อาถรรพ์เลข 7 นั้นเกิดขึ้นกับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรัก หรือการงาน แต่ที่น่าสนใจคือวง Girl Group ฝั่ง K-Pop ที่ส่วนใหญ่มักจะยุบวงเมื่อครบรอบ 7 ปี แล้วเหตุผลมันคืออะไรล่ะ Brand Inside จะเล่าให้ฟัง

จะ Wonder Girls หรือ Girls’ Generation ก็ไม่พ้น
ปฎิเสธไม่ได้ว่าช่วงปี 2000 (พ.ศ.2543-2552) กระแส K-Pop นั้นโด่งดังไปทั่วโลก พร้อมแจ้งเกิดวง Boy Band และ Girl Group ให้เราๆ รู้จักกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Wonder Girls, Girls’ Generation, Super Junior และ TVXQ แต่สุดท้ายแล้วปัจจุบันก็เหลือฝั่ง Boy Band เท่านั้นที่ยังพอออกผลงานกันเป็นวงอยู่บ้าง
นั่นก็เพราะ K-Pop ฝั่ง Girl Group นั้นเลิกการทำเพลงด้วยกันไปเกือบทั้งหมด ทั้ง 2NE1, 4Minute และ Sistar ที่เลิกไปหลังผ่านช่วงเวลา 7 ปีมาไม่นาน และถ้าเอาแบบ 7 ปีเป๊ะๆ ก็ต้อง Wonder Girls กับ Girls’ Generation ที่มีสมาชิกบางคนประกาศลาออกจากวง
ยิ่งใหม่ ยิ่งสด ยิ่งโด่งดังได้มากกว่ารุ่นเก่า
สำหรับเหตุผลที่ทำให้วง Girl Group เกาหลีนั้นเลิกวงในระยะเวลาดังกล่าว ก็เพราะ “The Younger The Better” หรือยิ่งอายุน้อย ก็ยิ่งดี โดยถ้ามองช่วงเวลาที่วงดังๆ เปิดตัวนั้น อายุเฉลี่ยของสมาชิกก็อยู่ต่ำกว่า 20 ปีทั้งนั้น บางวงน้อยถึง 14 ปีก็มี ทำให้การเร่งปั้นวงใหม่ขึ้นมามันก็จำเป็นมากขึ้น
Lee Taek-gwang ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารของมหาวิทยาลัย Kyung Hee เล่าให้ฟังว่า พวกเธอโด่งดังเนื่องจากความเด็ก, น่ารัก และดูไร้เดียงสา แต่เมื่อพวกเธอโตขึ้น ภาพลักษณ์ดังกล่าวมันก็ยากที่จะรักษาไว้ จึงไม่แปลกที่มันจะมี Girl Group วงใหม่ขึ้นมาแทนที่
อย่างไรก็ตามตัวอายุของวง Boy Band ก็อยู่ที่ต่ำกว่า 20 ปีเช่นกัน บางวงมีสมาชิกที่อายุเพียงสิบขวบนิดๆ เท่านั้น แต่ด้วย Boy Band ของ K-Pop นั้นเน้นเรื่องความแข็งแรง และไม่ได้น่ารักอะไรขนาดนั้น ทำให้เรื่องอายุที่โตขึ้นไม่ได้กระทบต่อภาพลักษณ์ของวงเยอะเทียบเท่ากับ Girl Group
หาลู่ทางเติบโตไปอีกขั้นคือความหวังใหม่
ขณะเดียวกันถึงวง Girl Group จะมีแฟนเพลงจำนวนมาก และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ต้องยอมรับว่ายังค่อนข้างห่างไกลกับวง Boy Band ด้วยเหตุว่าแฟนเพลง K-Pop ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ก็ไม่แปลกที่วงผู้ชายจะได้เปรียบกว่า สังเกตจากถึงวง Boy Band ต้องติดภารกิจทางทหาร แต่ฐานแฟนเพลงก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ค่ายเพลงที่ต้องการปั้นวง Girl Group จึงต้องเซ็นสัญญาศิลปินที่มีความสามารถหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร้องเพลง, เขียนเพลง, เต้น หรือการแสดง เพราะพวกเขาสามารถต่อยอดในอาชีพศิลปินไปได้มากกว่าแค่เป็นวง Girl Group และทางค่ายก็สร้างรายได้จากศิลปินคนนั้นได้ยั่งยืนกว่าเดิมด้วย
เช่นกรณีของ Hyeri กับ Suzy ของวง Girl’s Day และ Miss A ตามลำดับก็ไปเดินหน้าผลงานการแสดงเต็มตัว ส่วน Sunmi อดีตสมาชิกวง Wonder Girls ก็ไปเป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัว ดังนั้นเมื่อความเด็ก และไร้เดียงสาคือจุดขายของ Girl Group ก็ไม่แปลกที่เมื่อเติบโตขึ้น พวกเธอก็ต้องหาลู่ทางใหม่ๆ เพื่อให้อาชีพในสายบันเทิงนั่นยั่งยืน
สรุป
7 ปีถือเป็นเวลาที่นาน และถ้าอยู่ในแบบเดิมๆ ไม่ได้ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเปลี่ยน เช่นเดียวกับ Girl Group ที่ต้องดูสดใหม่ และน่ารักตลอดเวลา เลย 7 ปีไปแล้วจะให้มาน่ารักต่อก็คงไม่ใช่เรื่อง ดังนั้นน่าจะถูกต้องแล้วที่ทางค่ายเพลงเลือกเดินกลยุทธ์นี้ เพื่อทำให้ตัวศิลปิน และทางค่ายเติบโตไปด้วยกันในอนาคต
อ้างอิง // Korea Herald
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา