ขี่คลื่นการเงินยุคใหม่กับ “กรณ์ จาติกวณิช” ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย

ฟินเทค คือหนึ่งในคำพูดสุดฮอตของอุตสาหกรรมการเงิน รวมถึงกลุ่มนักพัฒนา เพราะคำนี้ หมายถึง การนำนวัตกรรมใหม่มาพัฒนาบริการทางการเงินแบบเดิมๆ และการปฎิวัติครั้งนี้ก็ยิ่งใหญ่มาก ลองมาอ่านทิศทางการเงินยุคใหม่กับ กรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย ว่าจะยกระดับอุตสาหกรรมนี้อย่างไรบ้าง

cac_8780
กรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย // รูป: C asean

อยู่รวมกันทำให้มีพลัง และสร้างความชัดเจน

กรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย ที่อีกไม่นานจะพัฒนาสู่สมาคมฟินเทคประเทศไทย เล่ากับ Brand Inside ว่า การจัดตั้งชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการยกระดับบริการฟินเทคไทย เพราะปัจจุบันสตาร์ทอัพมีหลายสาขา ฟินเทคก็เป็นหนึ่งในนั้น และถือเป็นกลุ่มต้นๆ ที่มี Potential ผ่านรายได้ของกลุ่มธนาคาร, ประกัน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หากมีจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย คาดว่าจะมีรายได้รวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท/ปี, กำไร 2 แสนล้านบาท/ปี และมี Market Cap รวมกันมากถึง 2.5 ล้านล้านบาท

แม้ว่าจะมีมูลค่าสูง แต่ก็ยังมีโอกาสให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ ผ่านการนำเทคโนโลยีด้านการให้บริการทางการเงินที่มากกว่าแค่บัญชีเงินฝาก แต่ไม่ใช่ผู้เล่นทุกคนที่จะเห็นโอกาสนี้ เพราะคนทั่วโลกต่างก็เห็นโอกาสเหล่านี้เช่นกัน และเรียกได้ว่ายังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบก็ไม่ผิดนัก เพราะปัญหาใหญ่ในประเทศไทย คือ เรื่องกฎเกณฑ์, กติกา และข้อกฎหมาย ที่ทำให้การทำฟินเทคในไทยยังไปต่อได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น การตั้งชมรมฟินเทคขึ้นมาก็จะช่วยให้เกิดการรวมตัวที่ชัดเจน และสร้างพลังขับเคลื่อนผ่านการเจรจากับแหล่งเงินทุน และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ สะดวกขึ้น

member-1024x446
สมาชิกของชมรมฟินเทคไทย

แกนหลักยังอยู่ที่สมาคมสตาร์ทอัพ

“ผมไม่อยากใช้คำว่า “แยก” สมาคมสตาร์ทอัพยังคงต้องมี ศูนย์รวมคือที่ฮับบ้า (Hubba) แต่ที่ผมออกมาร่วมทีมตั้งชมรมฟินเทค เพราะตัวอุตสาหกรรมนี้มันมีผู้กำกับกิจการเยอะ ทั้งแบงค์ชาติ, กลต. และกระทรวงการคลัง ถ้าเปรียบเทียบกับสตาร์ทอัพกลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น วงใน หรืออุ๊คบี พวกเขาสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ทันที ไม่มีเรื่องกฎหมายมาเกี่ยวข้องมากนัก แต่ของเรามันต่างกันเยอะ และตอนนี้ก็เริ่มมีสตาร์ทอัพที่อยากจัดตั้งชมรมของตัวเองขึ้นมาบ้าง เช่น เมดเทค (MedTech) ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ และเอดเทค (EdTech) บริการทางการศึกษา ที่มีหน่วยงานภาครัฐกำกับอยู่เหมือนเรา”

ทั้งนี้การที่ กรณ์ เข้ามาเป็นประธานชมรมฟินเทค หนึ่งในเหตุผลหลักคือเรื่องคอนเน็คชั่น เพราะด้วยประสบการณ์ทำงาน และการคลุกคลีกับกับหน่วยงานต่างๆ มานาน ทำให้การติดต่อกับหน่วยงานกำกับทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนนี้ ยังมีความสนใจในเรื่องฟินเทค และได้ลงทุนฟินเทคบางบริการแล้ว แต่ด้วยการมีวาระกำกับชัดเจน เพราะต้องกลับไปทำงานด้านการเมือง จึงต้องรวมตัวฟินเทคให้เป็นกลุ่มก้อนเร็วที่สุด เพื่อทำให้รัฐ และเอกชน รู้ว่าอยากติดต่อฟินเทค ต้องติดต่อใคร

ไม่เป็น Incubator แต่ช่วยแก้ปัญหา Regulator

กรณ์ บอกว่า ตอนนี้ผู้กำกับกิจการนี้ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ค่อนข้างตื่นตัว และมีความคิดทันต่อยุคสมัย เพราะช่วงตั้งชมรมใหม่ๆ ทางทีมงานก็อยากให้เชิญหน่วยงานข้างต้นมาร่วมด้วย แต่คิดว่าทางนั้นคงไม่มา เพราะการตั้งสมาคมเกี่ยวกับการเงิน ส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวของเอกชน เพื่อไปเจรจาต่อรองกับรัฐ แต่พอเป็นฟินเทค รัฐไม่มองอย่างนั้น กลับติดต่อเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพราะอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้บ้าง

ขณะเดียวกัน ชมรมฟินเทคไม่ได้มีนโยบายสร้าง Incubator หรือโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้วยตัวเอง จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อ และจะสร้าง 3 สิ่งคือ National FinTech Sandbox, National FinTech Ecosystem และ National FinTech Roadmap เพื่อช่วยพัฒนาให้อุตสาหกรรมนี้เดินต่อไปได้ดีขึ้น โดยเฉพาะตัว Sandbox ที่จะเป็นตัวกลางในการติดต่อรัฐ และเอกชนในการเชื่อมต่อระบบเข้ามา เพราะถ้าไม่มีสองกลุ่มนี้มาช่วย (รัฐและเอกชน) โอกาสที่ฟินเทคไทยจะพัฒนาทัดเทียมต่างชาติก็ยาก

บรรยากาศของการประชุมชมรมฟินเทคไทย
บรรยากาศของการประชุมชมรมฟินเทคไทย / รูป: C asean

กฎไม่เอื้อ คือกำแพงของฟินเทค

“ที่เห็นชัดๆ ก็คือการเชื่อมโยงเพื่อเก็บค่าธรรมเนียมของฟินเทคที่เป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้กับประชาชน เพราะกลต. เปิดให้กับพวกรายบุคคลเท่านั้นที่เก็บค่าธรรมเนียมได้ แต่นิติบุคคลทำไม่ได้ ซึ่งฟินเทคอยากให้รายได้เข้าบริษัท ไม่ไช่เข้ากระเป๋าตัวเอง เช่นรับผ่านบุคคล เสียภาษีบุคคล แล้วค่อยส่งไปให้บริษัท และเสียภาษีนิติบุคคล ซึ่งบางครั้งเจอภาระภาษีมากกว่า 50% มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น และเป็นเรื่องที่ต้องเจรจา ซึ่งแต่ก่อนยังไม่เป็นปัญหามากขนาดนี้”

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Know Your Customer (KYC) โดยเฉพาะการเปิดบัญชีแต่ละครั้งต้องใช้เอกสารจำนวนมาก จึงเริ่มคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาเป็น e-KYC ร่วมกัน เพราะตอนนี้ยังติดข้อกฎหมายอยู่ ทำให้มันให้บริการไม่ได้ ที่สำคัญยังเตรียมเสนอการปฏิรูปในนามชมรม เพื่อให้ฟินเทคมีพื้นที่ในการช่วยประชาชนได้มากขึ้น นอกจากนี้ในชมรมยังหารือเรื่อง Neutrality หรือแนวคิดป้องกันไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาด และปิดกั้นไม่ให้เกิดการพัฒนา หรือการแข่งขัน

ศึกษาสถาบันการเงินเฉพาะกิจสร้างโอกาสใหม่

สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างธุรกิจฟินเทค กรณ์ แนะนำว่า ลองศึกษาบริการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือธนาคารออมสิน  เพราะสถาบันการเงินเหล่านี้มีไว้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และบริการเหล่านี้ธนาคารเอกชนทำไม่ได้ หรือไม่ทำ เพราะไม่คุ้มทุน โดยเฉพาะบริการดูแลคนจนในเมืองผ่านธนาคารออมสิน และผมยืนยันว่าไม่ใช่ให้มา Disrupt สถาบันเหล่านี้ แต่ต้องการให้ยกระดับบริการ ผ่านนวัตกรรมใหม่มากกว่า เพราะปัจจุบันยังมีประชากรหลายคนเข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้

“เป้าหมายของฟินเทค อย่างแรก คือ ต้องทำให้การเข้าถึง หรือการใช้บริการทางการเงินง่ายขึ้น กว้างขึ้น เพราะตอนนี้การใช้บริการธนาคารมันแคบมาก สอง ทำให้การแข่งขันมีความโปร่งใสมากขึ้น และผมว่าธนาคารต้องปรับตัว ซึ่งบางรายตอนนี้ก็เริ่มแล้ว เช่น เปิดเอพีไอ (API) ให้เชื่อมต่อ บางธนาคารก็มีโครงการสร้างฟินเทคขึ้นมา ทั้งหมดคนได้ประโยชน์คือประชาชน และในฝั่งธนาคารแหล่งที่มาของรายได้ก็อาจเปลี่ยน เพราะตอนนี้การโอนเงินก็สะดวก ไม่มีต้นทุน ดังนั้นการหวังรายได้จากแค่โอนเงินต้องลดลง ต้องมีรายได้ที่มี Value Added มากขึ้น”

กังวลไทยเสียเปรียบเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีบริษัทต่างชาติเข้ามาให้ความสนใจฟินเทคประเทศไทยมากขึ้น ดังนั้นการจัดตั้ง National Data Pool หรือศูนย์รวมข้อมูลผู้ใช้งานในประเทศไทย เพื่อไม่ให้คนไทยเสียเปรียบ เพราะปัจจุบันเฟสบุ๊ก และกูเกิล มีข้อมูลประชากรไทยมากมาย และถึงบริษัทไทยอยากเข้าไปใช้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นการนำเงินออกนอกประเทศ ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลในประเทศตัวเอง ตัวอย่างที่ดีคือ อาลีเพย์ สามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยได้ เพราะเขามีฐานข้อมูลผู้ใช้ทั้งหมด

เศรษฐกิจปีหน้ายังต้องลุ้น หลังหนี้ครัวเรือนไม่โอเค

ในฐานะอดีตขุนคลัง กรณ์ มองว่าเศรษฐกิจปี 2560 อาจคาดเดาลำบาก เพราะปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนยังมีสูง โดยตัวเลขปี 2559 อยู่ราว 20% คิดเป็นมูลค่า 3 แสนบาท/ครัวเรือน ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง  แต่ก็มีข่าวดีคือสัดส่วนหนี้นอกระบบลดลง ในทางกลับกันค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการผ่อนชำระหนี้อยู่ที่ 15,000 บาท หรือปีละ 1.8 แสนบาท ดังนั้น 60% ของหนี้ครัวเรือน 3 แสนบาท คือดอกเบี้ย ชี้ให้เห็นถึงระบบการเงินไทยห่วยแตก ประชาชนไม่มีทางเจริญ ส่วนภาคนิติบุคคลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไม่น่าห่วง เพราะระดับท็อปต่างมีกำไรเพิ่มขึ้น 25%

แสดงให้เห็นว่าส่วนนิติบุคคลมีการแข่งขัน และเติบโตอยู่ แต่ฝั่งประชาชนกลับทรุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา