ร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นมีหนาว เพราะเชนร้านสะดวกซื้อเกาหลีหลายเจ้ากำลังเข้ามารุกตลาดอาเซียนอย่างเต็มตัว เตรียมท้าทายสถานะเจ้าตลาดของเชนจากญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้
เมื่อร้านสะดวกซื้อเกาหลีบุกอาเซียน
GS Retail เจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อเบอร์ 2 ของเกาหลีเข้าไปทำตลาดในเวียดนามตั้งแต่ปี 2018 โดยปัจจุบันเปิดให้บริการร้านสะดวกซื้อ GS25 กว่า 160 แห่ง และยังตั้งเป้าหมายที่ทะเยอทะยานเอาไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนร้านเป็น 260 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้
ภายในร้านสะดวกซื้อจะมีการวางจำหน่ายสินค้าเกาหลี เช่น ต๊อกบกกีสำเร็จรูป รามยอนสำเร็จรูป สาหร่ายเกาหลี ไปจนถึงเครื่องปรุงต่างๆ ถ้าจะพูดว่านี่คืออีกช่องทางในการส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลีก็คงไม่ผิดไปเท่าไหร่นัก
ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่เจ้าเดียวที่กำลังทำตลาดอาเซียน เพราะเบอร์ 1 ของเกาหลีอย่าง BGF Retail ที่เป็นเจ้าของเชนร้านสะดวกซื้อ CU ก็เริ่มเข้าไปทำตลาดในมาเลเซียโดยเพิ่งจะสาขาแรกไปในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ EMart24 ซึ่งเป็นเชนที่เป็นอันดับ 4 ในประเทศเกาหลีก็ได้เปิดตัวสาขาแรกในมาเลเซียไล่เลี่ยกับ CU
ทำไมต้องอาเซียน (โดยเฉพาะเวียดนาม)
ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ยอดขายต่อสาขาในประเทศเกาหลีลดลงปีละ 0.9% พูดง่ายๆ ก็คือหดตัวลงเรื่อยๆ โดยยอดขายต่อสาขาก็ไม่ได้ดีนักเพราะสามารถทำรายได้ต่อวันได้แค่ 1,000 เหรียญ (34,000 บาท) เท่านั้น คิดเป็นแค่ 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น
ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความชะงักงันของยอดขายในประเทศ ร้านสะดวกซื้อจากเกาหลีจึงต้องขยับขยายสู่ตลาดภายนอก โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะเวียดนามก็ดูเป็นตลาดที่มีความเป็นไปได้เพราะประชากรยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
นอกจากความนิยมในวัฒนธรรมเกาหลีที่พ่วงมากับเพลง K-pop และซีรีส์เกาหลีที่โด่งดังไปทั่วภูมิภาคนี้ในกลุ่มคนหนุ่มสาวแล้ว เวียดนามยังถือเป็นแหล่งผลิตสำคัญของบริษัทเกาหลีจำนวนมาก เช่น Samsung ทำให้ธุรกิจเกาหลีสามารถทำธุรกิจในแถบนี้ได้สะดวก
นี่ยังไม่นับรวมเรื่องที่ว่าเวียดนามและเกาหลีใต้มีความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจจนทำให้ตอนนี้มีคนเกาหลีกว่า 2 แสนคนอาศัยอยู่ในเวียดนาม
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา