หันหลังให้รถไฟฟ้า หันหน้าเข้าหาตุ๊กตุ๊ก แฟนคลับศิลปินเกาหลีหันมาโปรโมตท้ายรถมากขึ้น

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บรรดาแฟนคลับสายซัพพอร์ตศิลปินเกาหลีซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ออกมาประท้วงในปัจจุบัน ตามข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและองคาพยพลาออก ตลอดจนแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการศึกษา การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ พวกเขาคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ประสบปัญหาขณะเดินทางเพื่อไปชุมนุมประท้วง เนื่องจาก รถไฟฟ้าส่วนใหญ่ทั้งรถไฟฟ้าลอยฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ต่างระงับการให้บริการหลังรัฐบาลขอความร่วมมือ ทำให้เกิดความไม่สะดวกขณะเดินทาง 

ล่าสุด กลุ่มแฟนคลับเหล่านี้เริ่มหันหลังให้รถไฟฟ้า ที่เคยเป็นแหล่งโปรโมตศิลปินเกาหลีจำนวนมาก ด้วยการหันมาโปรโมตศิลปินผ่านรถโดยสารประเภทตุ๊กตุ๊กแทน โดยข้อมูลจากผู้ใช้ Twitter แอคเคาท์ @ferorina36 ระบุข้อมูลการรวบรวมราคาป้ายโปรโมตศิลปินท้ายรถตุ๊กตุ๊ก เพื่อเปลี่ยนมือจากการสนับสนุนนายทุนใหญ่ เป็นการกระจายรายได้สู่รายย่อยแทน โดยมีอัตราค่าบริการคร่าวๆ ดังนี้

วินรถตุ๊กตุ๊ก สถานีหัวลำโพง 

  • ราคาอยู่ที่ 300-400 บาทต่อคัน (รวมค่าติดป้าย)
  • ไม่มีหัวคิว ป้ายให้ทำมาเอง
  • เช่าเป็นระยะเวลา 1 เดือน 
  • ไม่มีขั้นต่ำในการติดป้าย จะติดกี่คันก็ได้ มีรถให้ติดป้ายประมาณ 30 คัน

วินข้าง MBK 

  • ผ่านหัวหัวหน้าวิน (เป็นคนจัดการ)
  • ทำป้ายมาติดเอง ขนาด 1 x 0.50 เมตร
  • อัตราค่าติดป้ายอยู่ที่ 600 บาท (รวมค่าติดป้าย) 
  • เช่าเป็นระยะเวลา 1 ดือน 
  • ไม่มีขั้นต่ำในการติดป้าย
  • มีรถติดป้ายจำนวนมากกว่า 100 คัน 

วินรถสองแถว BTS อุดมสุข 

  • ผ่านหัวหน้าวิน
  • อัตราราคาอยู่ที่ 300 บาท
  • เช่าเป็นระยะเวลา 1 เดือน
  • ไม่มีขั้นต่ำในการติด 
  • มีรถจำนวน 15 คัน 
  • เป็นป้ายติดร่วมกับป้ายอื่น ไม่สามารถจองติดเดี่ยวทั้งคันได้
  • ขนาด 1.80 x 0.40 เมตร
  • อาจเรียกเก็บเพิ่ม*

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจเคยรายงานไว้ในช่วงกลางปี 2561 ที่กำลังเป็นช่วงที่แฟนคลับมีความนิยมลงขันเช่าป้ายในพื้นที่รถไฟฟ้าใต้ดินนั้น ระบุว่า อัตราค่าใช้จ่ายจัดทำป้ายโฆษณาหรือค่าเช่าโฆษณาต่อเดือนของป้าย 3 ขนาด มีราคาดังนี้

  • ขนาดใหญ่มีความกว้าง 6.12 x 2.12 เมตร ราคาอยู่ที่ 54,000 บาท 
  • ขนาดกลางมีความกว้างอยู่ที่ 3.06 x 1.56 เมตร ราคาอยู่ที่ 48,500 บาท
  • ขนาดเล็กมีราคาอยู่ที่ 15,000 บาท 

ราคาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับทำเลของสถานี จองล่วงหน้าได้ไม่เกิน 2 เดือน เช่าป้ายมีระยะเวลา 1 เดือน 

Bangkok MRT COVID-19 Social Distancing รถไฟฟ้าใต้ดิน
ภาพจาก Shutterstock

รายได้สื่อโฆษณา MRT คิดเป็นสัดส่วน 5% ของธุรกิจหลัก แต่รายได้หลักมาจากการบริหารค่าทางด่วน

ถ้าพูดถึงรายได้สื่อโฆษณา MRT หรือรถไฟฟ้าใต้ดินนี้ เป็นรายได้ส่วนย่อยที่อยู่ภายใต้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM (Bangkok Expressway and Metro) ซึ่ง BEM ก่อตั้งในปี 2015 เป็นการควบรวมกิจการของบริษัททางด่วนกรุงเทพจำกัด (บริษัทร่วมของ บมจ. ช.การช่าง) และ บมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ

ธุรกิจของ BEM มี 4 ประเภท คือ ทางพิเศษในเขต กทม. และปริมณฑลระยะทางรวม 88 กิโลเมตร, บริการรถไฟใต้ดิน (MRT) มีระยะทางรวม 70 กิโลเมตร จำนวน 54 สถานี, การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และสื่อโฆษณาในสถานี MRT ในเครือข่ายรถไฟฟ้ากรุงเทพหรือ BMN และการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภค คือ บมจ. TTW และ บมจ. CK Power

รายได้ของ BEM แบ่งได้ดังนี้ 

  • BEM เป็นผู้ให้บริการทางพิเศษครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เส้นทางเหล่านี้คิดเป็น 65% ของรายได้หลักทั้งหมดของบริษัท 
  • ธุรกิจรถไฟฟ้าใต้ดินคิดเป็น 30% ของรายได้ทั้งหมด ปัจจุบันให้บริการ 2 เส้นทางคือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เอกชนรับสัมปทานจัดเก็บรายได้จากการบริการทั้งหมดและจ่ายตอบแทนคืนรัฐตามที่ตกลง 
  • บริษัทและบริษัทย่อย (BMN) ปล่อยพื้นที่ให้เอกชนใช้ในการพาณิชย์และการโฆษณาในพื้นที่ โดยการให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial Development: CD) สร้างรายได้เป็นสัดส่วน 5% (ปี 2018)

รายได้หลักของบริษัท BEM มาจากการดำเนินงานทางพิเศษภายใต้สัมปทาน 30 ปี สิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 จากรายงาน BEM: ผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนที่กำลังจะเติบโต ระบุไว้ว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงการบริหารของพรรคการเมืองที่รับผิดชอบอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งจะมีผลต่อการสัมปทาน

ผลการประชุมของ ครม. ชุดปัจจุบันในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็สรุปว่าเห็นชอบให้มีการต่อสัมปทาน BEM บริหารค่าผ่านทางด่วน 3 ฉบับเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน สิ้นสุด 31 ตุลาคม 2578 ทั้งนี้เพื่อเป็นการแลกกับการยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งหมดรวม 17 คดี

ภาพจาก Shutterstock

รายได้สื่อโฆษณาใน BTS เป็นอย่างไร?

เมื่อพูดถึงรายได้สื่อโฆษณา BTS ก็เป็นธุรกิจที่แตกออกมาจากการก่อตั้งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสรายแรกในไทยเมื่อปี 2533 มีผู้ก่อตั้งคือคีรี กาญจนพาสน์ 

จากนั้นในปี 2541 กวิน กาญจนพาสน์ ลูกชายของคีรีก็สร้างธุรกิจสื่อโฆษณาสำหรับรถไฟฟ้า BTS จึงก่อตั้งบริษัท วีจีไอ (VGI) ซึ่งปี 2542 วีจีไอได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการบริหารพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์บนเครือข่ายบีทีเอสทั้งหมด สิทธิ์นี้หมดอายุเดือนธันวาคม 2572 จากนั้นจึงขยายธุรกิจสื่อโฆษณาไปยังรถโดยสารประจำทาง BRT ทั่ว กทม. ในปี 2553

รายได้ของ VGI แบ่งได้ดังนี้

    • ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน ที่แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 
      • สื่อโฆษณาในระบบขนส่งมวลชน 
      • สื่อโฆษณากลางแจ้ง 
      • สื่อโฆษณาในอาคารและสำนักงานอื่นๆ 
  • ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล 
ปี 2560/61 ปี 2561/62 ปี 2562/63
รายได้จากบริการ 3,936 ล้านบาท 3,611 ล้านบาท 4,000 ล้านบาท
ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน
สื่อโฆษณาขนส่งมวลชน 2,262 ล้านบาท 2,405 ล้านบาท 2,184 ล้านบาท (-9.2% YOY)
สื่อโฆษณากลางแจ้ง 958 ล้านบาท 265 ล้านบาท 294 ล้านบาท (+11.1% YOY) 
สื่อโฆษณาในอาคารฯ 338 ล้านบาท 412 ล้านบาท 371 ล้านบาท  (-9.9% YOY)
ธุรกิจบริการดิจิทัล 378 ล้านบาท 529 ล้านบาท 1,151 ล้านบาท (+117.5% YOY)

 

บริษัท VGI พลิกธุรกิจในช่วงปี 2560 จากการให้เช่าพื้นที่สื่อโฆษณา กลายเป็นผู้ให้บริการ Offline-to-Online (O2O) ผ่านแพลตฟอร์มธุรกิจสื่อโฆษณา บริการชำระเงินและโลจิสติกส์แบบ ecosystem ทำให้ปี 2562/2563 สร้างรายได้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 1,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% YOY 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มสำหรับปี 2563/2564 คาดว่าธุรกิจสื่อโฆษณาของ VGI จะได้รับผลกระทบจากโควิดระบาด สื่อออนไลน์จะได้รับผลบวกมากขึ้น ธุรกิจชำระเงินทั้งออฟไลน์และออนไลน์จะได้รับผลกระทบที่มีผู้โดยสาร BTS ลดลง ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ผ่านการบริหารของ Kerry Express คาดว่าจะเติบโตหลังคนหันมาใช้บริการอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

Photo by Lauren Kay on Unsplash

สรุป 

รายได้บริษัทแม่ที่ดูแล MRT ส่วนใหญ่รายได้หลักมาจากการบริหารการทางพิเศษไม่ใช่รายได้จากสื่อโฆษณา ขณะเดียวกัน BTS ก็มีรายได้สื่อโฆษณาขนส่งมวลชนมีทิศทางลดลง เหตุผลสำคัญมาจากโควิดระบาด อีกทั้งคนลดการใช้งานลงด้วย แต่รายได้ใหม่ที่เป็นธุรกิจดิจิทัลก็พลิกมาเป็นบวกเติบโตอย่างก้าวกระโดดเกิน 100% ทำให้ได้กำไรและมีรายได้สูงกว่าที่เคยมีมา 

การกระจายรายได้ของกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจรายย่อยที่มีรายได้ไม่มากนักหากเทียบกับการเช่าพื้นที่ใน MRT และ BTS ที่ต้องเสียค่าเช่าในจำนวนมาก อีกทั้ง รถตุ๊กตุ๊กยังถือเป็นสัญลักษณ์หลักที่นักท่องเที่ยวมักจะนึกถึงเมืองไทยเสมอ เหมือนที่เรามักจะคุ้นตากับสัญลักษณ์รถตุ๊กตุ๊กที่ส่วนใหญ่คนนำมาขายเป็นของที่ระลึกว่ามาจากเมืองไทย และครั้งหนึ่งที่มีการประกวด Miss Universe ประจำปี 2015 ก็เคยได้รางวัลชนะเลิศชุดแต่งกายประจำชาติเป็นชุดตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์มาแล้ว

ที่มา – BEM, ประชาชาติธุรกิจ, กรุงเทพธุรกิจ, VGI (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา