เกาหลีซื้อกันเอง Korean Air ซื้อกิจการ Asiana รวมสายการบินเกาหลีเหลือรายเดียว

ผลของอุตสาหกรรมการบินที่พังทลายจาก COVID-19 ส่งผลให้สายการบินทั่วโลกต้องหนีตาย บ้างก็เลิกกิจการ (เช่น AirAsia Japan) บ้างก็ต้องล้มละลายและเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ (เช่น การบินไทย) หรือท่ามาตรฐานคือ ปลด-พักงานพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย

อีกทางออกหนึ่งของสายการบินที่ประสบปัญหาการเงินคือ ขาย-ควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเกาหลี เมื่อสายการบินยักษ์ใหญ่ Korean Air ประกาศซื้อกิจการเพื่อนร่วมชาติ Asiana Airlines

เกาหลีใต้มีสายการบินหลักอยู่ 2 บริษัทคือ Korean Air ที่ก่อตั้งก่อนในปี 1969 ส่วน Asiana ตามมาทีหลังในปี 1988 โดยที่ Korean Air มีขนาดใหญ่กว่า

ธุรกิจของ Asiana มีปัญหามาตั้งแต่ปี 2019 ก่อนโรคระบาด COVID-19 ด้วยเหตุผลว่าบริษัทแม่ Kumho Asiana Group ซึ่งเป็นแชโบลรายหนึ่งของเกาหลีประสบปัญหาทางการเงิน และทยอยขายหุ้นของ Asiana ออกมาเพื่อใช้หนี้ รวมถึงประกาศว่าต้องการขายธุรกิจของ Asiana ทั้งหมด โดยมีบริษัทหลายแห่งในเกาหลีให้ความสนใจซื้อ

ช่วงกลางปี 2019 Kumho ประกาศเลือกกลุ่มพันธมิตร HDC Hyundai Development Company (บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือฮุนได) และ Mirae Asset Daewoo (บริษัทในเครือแดวู) เป็นผู้ชนะการประมูลซื้อ แต่ดีลล่มกลางทางเพราะมีปัญหาเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ของ Asiana ไม่ลงตัว

ปี 2020 เมื่อเกิดปัญหา COVID-19 ทำให้สถานการณ์ของ Asiana ยิ่งย่ำแย่ และสุดท้ายคู่แข่งเพื่อนร่วมชาติคือ Korean Air Lines ซึ่งมีเจ้าของเป็นกลุ่มทุน Hanjin Group (เติบโตมาจากธุรกิจเดินเรือ) ก็บรรลุข้อตกลงซื้อ Asiana ในราคารวม 1.8 ล้านล้านวอน (ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท) เพื่อแลกกับสัดส่วนหุ้น 63.9% ใน Asiana

นอกจากนี้ Korean Air ยังประกาศจะเพิ่มทุนอีก 2.5 ล้านล้านวอน (ประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท) โดยที่บริษัทแม่ Hanjin KAL จะจ่ายเงินเพิ่มเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง และธนาคาร Korean Development Bank ของรัฐบาลเกาหลี (ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ Asiana) จะเข้ามาช่วยลงทุนใน Hanjin KAL อีก 8 แสนล้านวอน เพื่อให้ Hanjin มีเงินไปซื้อ Asiana ได้สะดวกขึ้นด้วย

ภาพจาก Korean Air Facebook

Cho Won-tae ประธานของ Korean Air ระบุในแถลงการณ์ว่าต้องการช่วยพยุงให้ธุรกิจการบินของเกาหลีใต้ยังเดินหน้าต่อไปได้ และช่วยไม่ให้รัฐบาลต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาช่วยอุ้ม Asiana รวมถึงจะรักษาตำแหน่งงานของพนักงานทั้งสองสายการบินไว้เป็นอันดับแรก

การควบรวมกันของ Korean Air และ Asiana จะทำให้บริษัทใหม่กลายเป็นทุนสายการบินอันดับ 10 ของโลก โดยกระบวนการควบรวมต้องรอหน่วยงานของรัฐบาลเกาหลีใต้อนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปีหน้า 2021

หลังการควบรวมแล้ว ในระยะสั้น สายการบินทั้งสองแบรนด์จะยังคงอยู่ต่อไป แต่ในระยะยาว แบรนด์ Asiana จะหายไป เหลือแต่ Korean Air เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ทั้งสองสายการบินยังมีบริษัทลูกที่เป็น low-cost airlines ทั้งหมด 3 แบรนด์คือ Air Busan กับ Air Seoul (ของ Asiana) และ Jin Air (ของ Korean Air)

ข้อมูลจาก Korean Herald, Nikkei

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา