เกาหลีใต้ ให้โรงเรียนระดับประถม-มัธยม เปลี่ยนมาสอนแบบออนไลน์แก้ปัญหาโควิด-19

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวงการการศึกษาอย่างชัดเจน โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างปิดทำการ เพื่อไม่ให้ผู้เรียนต้องมารวมตัวกันจำนวนมาก มหาวิทยาลัยทั่วโลก รวมทั้งในไทยปรับไปทำการเรียนการสอนออนไลน์แทน ซึ่งอาจทำได้ในระดับอุดมศึกษา แต่ระดับมัธยมกับประถมศึกษาจะทำอย่างไร? เกาหลีใต้เลือกเดินหน้าออนไลน์แล้ว

PAJU, SOUTH KOREA – APRIL 24: South Korean children take a class at the Taesungdong elementary school on April 24, 2018 in Paju, South Korea. Taesungdong is the only civilian habitation within the southern side of the DMZ, located 1 km northeast of Panmunjom where the inter-Korean summit is scheduled on April 27, 2018. The individuals who have lived in the village since before the Korean War, or their descendants are only allowed to live in the village. (Photo by Chung Sung-Jun/Getty Images)

โดยกระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ ได้ประกาศว่าภาคการศึกษาใหม่ จะเริ่มต้นในวันที่ 9 เมษายนนี้ทั่วประเทศ ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมคือ 2 มีนาคม พร้อมกำหนดให้โรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั้งหมด เปลี่ยนไปทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แทนระบบห้องเรียนแบบเดิม

ทดสอบการเปลี่ยนผ่านทีละสัปดาห์

Yoo Eun-hae รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวนั้นเพื่อให้ชัดเจนว่าการเรียนการสอน ต้องเปลี่ยนเป็นแบบออนไลน์ทันที เพราะสถานการณ์ตอนนี้ตอบได้ยากว่าการระบาดของโรคจะสิ้นสุดเมื่อใด

ลองนึกภาพการเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์พร้อมกันทั้งโรงเรียนก็น่าจะลำบากทีเดียว กระทรวงฯ จึงกำหนดให้ระดับชั้น ม.3 และ ม.6 (เทียบเท่ากับของไทย) เป็นกลุ่มแรกที่เริ่มเรียนแบบออนไลน์ก่อน จากนั้นสัปดาห์ถัดมาจึงให้ระดับชั้นมัธยมศึกษาที่เหลือ รวมทั้งประถมศึกษาตอนปลาย เริ่มเข้าระบบการเรียนออนไลน์ ส่วนประถมศึกษาตอนต้น ค่อยตามมาในอีกหนึ่งสัปดาห์

สำหรับระดับชั้นอนุบาลนั้น กระทรวงฯ กำหนดให้เลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปไม่มีกำหนด ส่วนระดับมหาวิทยาลัยนั้นเปลี่ยนเป็นออนไลน์ไปก่อนหน้าแล้ว

พ่อแม่เห็นด้วย แต่ความพร้อมของทุกฝ่ายยังเป็นคำถาม

ผลสำรวจโดย Realmeter พบว่าพ่อแม่เด็ก 72% เห็นด้วยที่ให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพราะกังวลหากลูกต้องไปโรงเรียนตามกำหนดเปิดภาคการศึกษา อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าโรงเรียนเองมีอุปกรณ์และเครื่องมือพร้อมแค่ไหน เพราะข้อมูลนั้นพบว่ามีโรงเรียนถึง 3,600 แห่ง จากทั้งหมด 8,999 แห่ง ที่ไม่มีการติดตั้ง Wireless Network สำหรับให้ครูใช้ถ่ายทอดสดการสอนจากในห้องด้วยซ้ำ

การเข้าถึงการเรียนสำหรับนักเรียนก็เป็นปัญหาเช่นกัน ข้อมูลระบุว่าครอบครัวเกาหลีใต้ 3 ใน 10 ครอบครัว ไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่แท็บเล็ต อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ระบุว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีชุดอุปกรณ์สำหรับใช้ยืมเพื่อการเรียนตอนนี้

เลือกวิธีการสอนที่เหมาะสม

ปัญหาหนึ่งคือครูเองก็ไม่มีประสบการณ์ในการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งมีบรรยากาศและการควบคุมที่แตกต่างจากห้องเรียนปกติ กระทรวงศึกษาธิการให้แนวทางจัดการสอน 3 รูปแบบ แบบแรกคือโต้ตอบกันเรียลไทม์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แบบที่สอง ให้อัดวิดีโอแล้วเผยแพร่เพื่อให้นักเรียนมาดูภายหลัง และแบบที่สาม ใช้การมอบหมายงานเป็นโปรเจกต์ให้ทำหรือส่งรายงาน โดยให้แต่ละโรงเรียนเลือกวิธีที่เหมาะสมเอง

ผู้ปกครองรายหนึ่งกล่าวว่า หากปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอเพียงลำพัง เขาก็ไม่แน่ใจว่าการเรียนจะมีประสิทธิภาพ ตอนนี้ทางออกที่คิดกันคือรวมกลุ่มในบ้านใกล้เคียง จัดห้องเรียนในบ้าน แล้วให้พ่อแม่ผลัดกันมาดูแล ซึ่งน่าจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนได้ดีมากขึ้น

ที่มา: The Strait Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา