ไม่ได้มีแต่บริษัทเทคโนโลยีที่กลายเป็น Startup ระดับ Unicorn ได้
เพราะ Kopi Kenangan เชนร้านกาแฟจากอินโดนีเซีย ประกาศระดมทุนระดับ Series C มูลค่า 96 ล้านเหรียญ ทำให้มูลค่ากิจการพุ่งเกิน 1,000 ล้านเหรียญ อยู่ในระดับ Unicorn เป็นที่เรียบร้อย
กว่าจะถึงจุดนี้ Kopi Kenangan ต้องใช้กลยุทธ์แบบไหน และจุดแข็งที่ทำให้ร้านกาแฟกลายเป็น Unicorn คืออะไร ติดตามได้จากบรรทัดถัดไปครับ
จุดเริ่มต้นของ ร้านกาแฟ Kopi Kenangan
Kopi Kenangan ก่อตั้งธุรกิจเมื่อปี 2017 หลังเล็งเห็นช่องว่างของธุรกิจร้านกาแฟในอินโดนีเซีย เพราะที่นั่นไม่มีร้านที่วางตำแหน่งตัวเองไว้อยู่ระหว่างร้านกาแฟข้างถนน กับร้านกาแฟเชนดัง
Edward Tirtanata ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Kopi Kenangan จึงตัดสินใจสร้างธุรกิจร้านกาแฟพันธุ์ใหม่ โดยมีแนวคิดหลักดังนี้
- ทำหน้าร้านให้ใช้พื้นที่เพียง 10-20% ของร้านกาแฟข้างถนน
- คุณภาพเครื่องดื่มต้องดี แต่มีราคาถูกกว่า Starbucks ครึ่งหนึ่ง
- ขายแบบ Grab-and-Go หรือซื้อกลับบ้านเป็นหลัก
ถ้าให้สรุปง่าย ๆ Kopi Kenangan คือร้านกาแฟขนาดเล็กที่เน้นขยายสาขาอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันรสชาติของกาแฟ และเครื่องดื่มอื่น ๆ ต้องดี แต่มีราคาที่เข้าถึงได้ และสมเหตุสมผล
แนวคิดดังกล่าวทำให้ Kopi Kenangan เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนปัจจุบันมีหน้าร้านในอินโดนีเซีย 600 แห่ง ครอบคลุม 45 เมือง และมีพนักงานมากกว่า 3,000 คน โดย 12 เดือนล่าสุดขายเครื่องดื่มไป 40 ล้านแก้ว
นักลงทุนสนใจ ใส่เงินจนเป็น Unicorn
เมื่อเติบโตเร็วขนาดนี้ ไม่แปลกที่นักลงทุนจะสนใจ และร่วมสร้างประวัติศาสตร์ไปกับ Kopi Kenangan จนในเดือน ธ.ค. บริษัทสามารถระดมทุนรอบ Series C มูลค่า 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้สำเร็จ
เงินทุนก้อนใหม่นี้ช่วยให้มูลค่ากิจการของ Kopi Kenangan มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับกับ Startup ระดับ Unicorn
การลงทุนรอบดังกล่าวนำโดย Tybourne Capital Management และมี Horizons Ventures, Kunlun, B Capital กับ Falcon Edge Capital เป็นอีกกลุ่มบริษัทที่เข้ามาลงทุน
หากนับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ Kopi Kenangan ระดมทุนไปรวมมูลค่า 240 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินทุนเหล่านี้คือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว และเติบโตได้ถึงตอนนี้
ขยายไปเป็น 1,000 สาขา ครอบคลุมอาเซียน
แผนหลังจากนี้ของ Kopi Kenangan คือการขยายสาขาไปครบ 1,000 แห่ง ครอบคลุมทั่วพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้องการเป็นแบรนด์ที่ลูกค้ารักที่สุดในภูมิภาคนี้
สำหรับคู่แข่งของ Kopi Kenangan ในอินโดนีเซียประกอบด้วย Kopi Janji Jiwa มีหน้าร้านราว 800 แห่ง ส่วน Kedai Kopi Kulo มีหน้าร้าน 250 แห่ง เป็นต้น
ในทางกลับกัน การระบาดของโรค COVID-19 อาจทำธุรกิจร้านกาแฟมีปัญหา แต่ไม่ใช่กับ Kopi Kenangan ที่รุกตลาดเดลิเวอรี และมีแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง แถมเป็นแอปฯ กาแฟที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในอินโดนีเซีย
ขณะเดียวกัน Kopi Kenangan วางแผนว่า ในไตรมาสแรกของปี 2022 จะจำหน่ายเครื่องดื่มได้ทั้งหมด 5.5 ล้านแก้ว/เดือน
สรุป
ถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีกลยุทธ์ที่น่าสนใจในธุรกิจร้านกาแฟ ซึ่งในอนาคตอาจเห็นรูปแบบร้านกาแฟเหมือนกับ Kopi Kenangan มากขึ้น และเปลี่ยนมุมมองในการทำร้านกาแฟที่ไม่จำเป็นต้องทำร้านให้ดูดี แต่เน้นขายแบบซื้อกลับบ้านก็เติบโตในธุรกิจนี้ได้
อ้างอิง // KR-Asia
อ่านข่าวเกี่ยวกับธุรกิจร้านกาแฟ และค้าปลีกเพิ่มเติมได้ที่นี่
- เจาะลึกร้านกาแฟพันธ์ุไทยในปั๊ม PT มีรายได้เท่าไหร่ ใหญ่แค่ไหนเมื่อเทียบกับ Cafe Amazon
- จับชีพจรร้านกาแฟ Starbucks ทำเดลิเวอรี TrueCoffee เปิด Subscription และ Amazon บุกพรีเมียม
- สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาด ช้อปดีมีคืน ปี 2565 ทำเงินสะพัด 40,000-50,000 ล้านบาท
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา