บทความโดย ธีรภัทร เจริญสุข
ชื่อของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ไปเมื่อไม่นานนี้ อาจไม่คุ้นกับผู้ติดตามข่าวธุรกิจในทุกวันนี้เท่าไรนัก
แต่กับคนวัยหลักสี่สิบขึ้นไป ถ้าพูดถึงสโลแกน “ความสุขที่ทุกคนดื่มได้” คงร้องอ๋อ
“เบียร์คลอสเตอร์” (Kloster Beer) สัญชาติเยอรมัน คือผลิตผลของการปลุกปั้นของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ในวัยหนุ่มฉกรรจ์
คลอสเตอร์ เบียร์พรีเมี่ยมจากเยอรมัน สังกัดบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ เป็นเบียร์ที่ทุกคนรู้จักแพร่หลายอันดับสองของประเทศไทย ในยุคที่ประเทศไทยมีแค่เบียร์สิงห์ให้ดื่ม
วัฒนธรรมลานเบียร์ของทุกวันนี้ ก็มีที่มาจากลานเบียร์คลอสเตอร์ ตรงสี่แยกปทุมวัน ซึ่งทุกวันนี้เป็นห้างสยามดิสคัฟเวอรี่
ถ้าไปถามคุณลุงคุณพ่อ อาจจะยังจำกันได้
คลอสเตอร์เบียร์ เคยถูกนำเข้ามาขายในเมืองไทยมาตั้งแต่ก่อนยุคสงครามโลก แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมนัก จนกระทั่ง “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยอมฤตบริวเวอรี่ ขอซื้อสิทธิ์จากบริษัทเบราเออไรเบ็คส์ของเยอรมัน มาผลิตเบียร์คลอสเตอร์ที่โรงเบียร์อมฤต ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพ
สมพงษ์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจดาวรุ่งในยุคนั้น เป็นลูกเขยของเจ้าสัว อุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้เรืองอำนาจด้วยกลุ่มธุรกิจเตชะไพบูลย์และธนาคารศรีนคร รวมถึงผู้อุปถัมภ์ก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ตั้งเป้าหมายผลิตเบียร์ที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดจากเบียร์สิงห์ของบุญรอด บริวเวอรี่ แห่งตระกูลภิรมย์ภักดี ด้วยการเน้นคุณภาพเบียร์และวางตำแหน่งตลาดให้พรีเมียมกว่า หลังจากเบียร์อมฤตผลิตมาเป็นเวลานานแต่ก็ยังแย่งส่วนแบ่งตลาดไม่สำเร็จ
การผลิตเบียร์ ยังจะทำให้ธุรกิจน้ำเมาของเตชะไพบูลย์ ที่ครองสัมปทานโรงสุราบางยี่ขันและเหล้า “แม่โขง” ครบวงจรขึ้น
สมพงษ์ในวัยหนุ่ม ตระเวนชิมเบียร์ทั่วประเทศเยอรมัน เพื่อค้นหาสูตรเบียร์มาแข่งกับเบียร์สิงห์ และพยายามปลุกปั้นเบียร์อมฤตขึ้นมาสู้ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งขอซื้อสิทธิ์เบียร์คลอสเตอร์มาผลิตเองได้ ด้วยความสัมพันธ์ฉันเพื่อนกับเจ้าของบริษัทเบราเออร์ไรเบ็คส์ (Brauerei Beck) ในเยอรมัน เจ้าของเบียร์แบรนด์ Beck’s ที่หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อเช่นกัน
นับแต่พ.ศ. 2518 จนถึง พ.ศ. 2534 เบียร์คลอสเตอร์ ภายใต้การนำของสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ที่ขึ้นเป็นประธานบริษัท คลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประสบความสำเร็จในการทำตลาดอย่างยิ่ง ชนิดที่กล่าวกันว่า คลอสเตอร์เป็นเบียร์เยอรมัน ที่คนเยอรมันไม่รู้จัก แต่กลับดังในไทยและข้ามไปดังในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนแบ่งตลาด (Market share) ของคลอสเตอร์ในไทยเคยขึ้นสูงที่สุดถึง 10% ของตลาดเบียร์
ทั้งที่เคยประสบความสำเร็จขนาดนี้ แต่ “คลอสเตอร์เบียร์” ก็ต้องล้มหายตายจากไปจากตลาดน้ำเมาไทย
ไม่ใช่เพราะนักดื่มเสื่อมความนิยม แต่ด้วยศึกทางธุรกิจ การเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ
สงครามน้ำเมาแย่งชิงสัมปทานโรงสุราบางยี่ขัน และยี่ห้อ “แม่โขง” ระหว่างกลุ่มเตชะไพบูลย์ กับกลุ่มเถลิง-เจริญ ที่สิ้นสุดด้วยการรวมโรงเหล้าในปี พ.ศ. 2529 ทำให้ตระกูลเตชะไพบูลย์สูญเสียรายได้และกำไรในธุรกิจสุราเป็นอย่างมาก รวมถึงการแข่งขันระหว่างแม่โขง-หงส์ทอง ที่ทำให้ตลาดเหล้าสีสะเทือน ส่งผลไปถึงรายได้ของเตชะไพบูลย์ในภาพรวม ทั้งยังเพิ่มรอยร้าวในตระกูล ชนิดที่ว่า “ตั้วเสี่ย” อุเทน กับ “ซาเสี่ย” สุเมธ ไม่มองหน้าเหยียบเข้าตึกออฟฟิศของกันและกัน
ในปี 2533 คลอสเตอร์เบียร์ ใกล้หมดสัญญาเช่าใช้สิทธิ์ทางปัญญาผลิตเบียร์จากบริษัทเบราเออร์ไรเบ็คส์ จึงต่ออายุสัญญาด้วยการเพิ่มค่าเช่าใช้สิทธิ์เป็น 10% ของยอดขาย จากเดิมที่เคยจ่ายเพียง 5% เท่ากับต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว
ในปี 2534 สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กระโดดเข้าเล่นการเมืองเต็มตัว ทิ้งเบียร์คลอสเตอร์ให้อยู่กับทายาทตระกูลเตชะไพบูลย์สายตรง คือวิมล เตชะไพบูลย์ ร่วมกับศิลป์ชัย ชัยสิทธิเวช นักการตลาดชั้นนำ ผู้คิดคำว่า “ความสุขที่ทุกคนดื่มได้” ที่ติดหูคนในยุคนั้น
ปี 2535 เกิดพฤษภาทมิฬ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สับขั้วย้ายข้างหลายครั้ง จนมาอยู่พรรคชาติพัฒนาและตั้ง “กลุ่ม 16” ในปี 2536 พร้อมข่าวลือตั้งพรรคประชารัฐ รองรับพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล มาเล่นการเมือง ในจุดนั้น ภาพจำของสมพงษ์ ก็ไม่ใช่นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงที่ริเริ่มผลิตเบียร์ท้าเจ้าวงการ แต่กลายเป็นนักการเมืองหัวหน้ากลุ่มที่เขี้ยวลากดินพร้อมจะพลิกขั้วย้ายข้างเสียแล้ว
และจุดจบก็มาถึง ในปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ธนาคารศรีนคร แกนหลักของธุรกิจเครือเตชะไพบูลย์ ล่มสลายลงพร้อมกับธุรกิจอื่นๆ บริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือธุรกิจของตระกูลเตชะไพบูลย์ ก็ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ไปพร้อมกับสิทธิ์การผลิตที่ต่อสัญญากับทางเยอรมัน รวมถึงเครื่องหมายการค้าต่างๆ และตกมาอยู่ในกำมือของ “บุญรอด บริวเวอรี่” แห่งค่ายสิงห์ คู่แข่งในอดีตที่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เคยคิดจะเอาชนะ ได้อย่างน่าเจ็บใจ
และกลายเป็นว่า “เบียร์ช้าง” แห่งค่ายไทยเบฟ ซึ่งรบกันกับตระกูลเตชะไพบูลย์ในกรณีสงครามแม่โขง ใช้วิธี “ขายเหล้าพ่วงเบียร์” จนเอาชนะเบียร์สิงห์ได้ กลายเป็นเจ้าอาณาจักรสุราเมรัยของประเทศไทยและขึ้นเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งในที่สุด
เบียร์คลอสเตอร์ ที่เคยยิ่งใหญ่ เป็นที่รู้จักและเป็นความทรงจำของคนจำนวนมาก ก็ถูกกลืนหายไปบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของแบรนด์ในประเทศไทย เช่นเดียวกับบทบาททางธุรกิจของ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ในอดีต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา