ช่วงที่ผ่านมาโลกเผชิญกับปรากฎการณ์ La Niña มาตลอด 3 ปีติดต่อกันครั้งแรกของศตวรรษที่ 21 ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำฝนในไทยมากกว่าปกติ แต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมากลับพลิกสู่ปรากฎการณ์ El Niño ที่ค่อนข้างรวดเร็วและรุนแรงจนหลายฝ่ายต่างกังวลว่า ภาคเกษตรกรรมไทยอาจเผชิญภัยแล้งที่อาจรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี
แต่ล่าสุด (24 พ.ย.) KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ปี 2566 นี้ สถานการณ์ El Niño ปีนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรไทยมากนัก สะท้อนจากผลผลิตภาคเกษตรกรรมของไทย (ปรับฤดูกาล) ทั้งช่วง ม.ค. – เม.ย. 2566 เทียบกับปีก่อนหน้าพบว่ายังเติบโตได้ 4.8% เมื่อเทียบกับปี 2022 ขณะที่ผลผลิตภาคเกษตรในเดือน พ.ค. – ก.ย. 2566 ยังเติบโตได้ 1.57% เมื่อเทียบกับปี 2565
ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ El Niño ปีนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรไทยมากอย่างที่คาดมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
- “ช่วงเวลา” ของการเกิด El Niño ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนพอดี ทำให้พอมีน้ำฝนในพื้นที่ต่าง ๆ บ้าง แม้ว่าจะน้อยลงจากปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลาหลายเดือนติดต่อกันเหมือนกับ El Niño ในฤดูแล้ง
- “ปริมาณน้ำในเขื่อน” อยู่ในระดับสูง จากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติจากปรากฎการณ์ La Niña ในช่วงปลายปีก่อนหน้า ทำให้พื้นที่เกษตรโดยเฉพาะในเขตชลประทานมีน้ำเพียงพอเพาะปลูกไปได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางภูมิภาค หรือสินค้าเกษตรบางกลุ่มที่ยังจะได้รับผลกระทบจาก El Niño เช่น กลุ่มพืชไร่ที่เพาะปลูกแบบปีต่อปีและต้องการน้ำค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าวนาปรังและมันสำปะหลัง ที่มีรอบการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าจะได้รับผลกระทบมากกว่า กลุ่มพืชไม้ยืนต้น เช่น ปาล์มน้ำมันและยางพารา
ที่สำคัญท่ามกลาง El Niño ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศอื่นๆ ทำให้หลายประเทศเริ่มมีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารในอนาคต และทำให้ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของภาคเกษตรกรไทย เพราะไทยบริโภคข้าวเพียง 55% ของการผลิตข้าวทั้งหมดประมาณ 20 ล้านตันในแต่ละปี และสามารถส่งออกข้าวที่เหลืออีก 45% หรือประมาณ 6-8 ล้านตัน
ในภาพรวมจากสถานการณ์ของผลผลิตเกษตรของไทยที่แม้จะไม่ได้เติบโตขึ้นอย่างมากแต่ก็ไม่ได้หดตัวอย่างรุนแรง กลับยังได้รับอานิสงส์จากการที่สามารถส่งออกข้าวในราคาที่สูงขึ้น
ขณะที่แนวโน้มของปี 2567 พบว่า El Niño ที่จะลากยาวเข้าสู่ฤดูแล้งในช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2567 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรในปีหน้า ค่อนข้างมากจากฝนที่อาจทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่จะเริ่มเพาะปลูกในช่วงปลายปีนี้และเก็บเกี่ยวไปจนถึงกลางปีหน้า
ทั้งนี้คาดว่าปี 2567 ผลผลิตภาคเกษตรกรรมอาจชะลอตัวลงเล็กน้อยจากความเสี่ยงที่ El Niño จะยาวนานกว่าที่คาด แต่ด้วยน้ำในเขื่อนในระดับสูงเพียงพอจะช่วยบรรเทาผลกระทบไปได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่รายได้ของภาคเกษตรในปีนี้และปีต่อไปคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าปีก่อนจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นมากชดเชยผลผลิตที่ไม่ได้เติบโตสูงมากนัก
อย่างไรก็ตาม จากภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ KKP Research มองว่า ภาครัฐควรเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในระบบชลประทานมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มการลงทุนของภาคเกษตร ทั้งการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานยังจะช่วยลดความเสี่ยงของผลกระทบจากปรากฎการณ์ต่าง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งในระบบชลประทานเพียง 10% แต่กลับมีผลผลิตข้าวสูงถึงเกือบ 45% ของผลผลิตข้าวในแต่ละปี ซึ่งการพัฒนาต่างๆ นี้จะมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยผ่านเกษตรกรที่ยังเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
หมายเหตุ
จากข้อมูลพบว่า การพัฒนาระบบชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือควรเป็นการลงทุนกับโครงการน้ำขนาดเล็ก ถึงกลางแทน เช่น ขุดสระเก็บน้ำ การทำธนาคารน้ำใต้ดิน การขุดลอกคลองส่งน้ำ หรือพัฒนาระบบส่งน้ำที่มี ประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีใหม่ ฯลฯ ซึ่งอาจจะเป็นข้อดีมากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะใช้งบประมาณ น้อยกว่าในแต่ละโครงการและสามารถกระจายการเข้าถึงน้ำสำหรับเพาะปลูกได้ง่ายและทั่วถึงมากกว่า
ที่มา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา