ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงถ้วนหน้า สาเหตุเกิดจากอะไร
เริ่มกันที่ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 2.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.7% (การประมาณการที่ไม่รวมผลของนโยบาย Digital Wallet ก่อนหน้านี้คือ 2.9%) โดยปรับลดประมาณการลงจาก 3 เรื่อง คือ
- การนำผลของนโยบาย Digital Wallet ออกจากกรณีฐานในการประมาณการเศรษฐกิจ จากความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบาย
- การปรับตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมลงเพื่อสะท้อนปัญหาสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง (เนื่องจากภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวติดกัน 5 ไตรมาส)
- รายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของ Covid-19 มากและมีแนวโน้มยังไม่กลับมาปกติ
อย่างไรก็ตาม KKP Research คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถโตได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เมื่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะกลับมาชดเชยการชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมและระดับสินค้าคงคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่คาดว่าทิศทางเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน มองว่าภาครัฐจำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากโครงสร้างควบคู่กันไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
นอกจากนี้ KKP Research ยังคาดการณ์ว่า
- อัตราเงินเฟ้อในปี 2567 จะอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8%
- อัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9%
- คาดการณ์ว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปี 2567 และ 1 ครั้งในปี 2568
- ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโต 2.8% ตามแนวโน้มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเริ่มลดต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง
ที่มา KKP Research
ส่วน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ล่าสุดเมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) เปิดเผยว่า ได้ปรับลด GDP ไทยในปี 2567 ลงเหลือ 2.6% จากการคาดการณ์เดิมในช่วงเดือน ธ.ค. ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.1% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวค่อนข้างเชื่องช้า และยังมีความเสี่ยงรอบด้าน
อีกทั้งยังเน้นย้ำว่า “เศรษฐกิจไทยมักจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเพิ่มขึ้นทุกครั้งหลังเกิดวิกฤต ทำให้เศรษฐกิจในระยะสั้นฟื้นตัวช้ามาก ส่วนในระยะยาวมีแนวโน้มขยายตัวต่ำเฉลี่ยไม่ถึง 2.0% ต่อปี อีกทั้งโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นได้ช้ากว่าหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าในอดีต”
ปี 2567 นี้แม้ว่าช่วงต้นปีเศรษฐกิจไทยได้แรงส่งจากการบริโภค และการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นตามอานิสงส์ของช่วงเทศกาล แต่ปัจจัยหนุนระยะสั้นอาจมีเพียงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่การลงทุนโดยรวมฟื้นตัวล่าช้า รวมถึงการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้จำกัด
สำหรับเงินเฟ้อปี 2567 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.8% ท่ามกลางการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน) ของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ราว 2.0% ซึ่งสูงกว่าประเทศคู่เทียบอย่างมาเลเซียและเกาหลีใต้ และสูงกว่าสหรัฐฯ ที่ระดับ 1.0%
ที่มา ttb analytics
ขณะที่ พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะฟื้นตัวแบบยังไม่กระจายตัวและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% ในปี 2567 (จากเดิมที่คาดไว้ 3.4% ไม่รวมผลของมาตรการ Digital wallet) โดยมีปัจจัยหนุนภายในประเทศ 4 ด้าน
- การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 35.6 ล้านคนในปี 2567 (จากปี 66 ที่ 28.2 ล้านคน)
- การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 3.1%
- การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2567 ซึ่งจะะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ 2.4% ตามลำดับ จากที่หดตัวในปี 2566
- การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโต 3.3% จากภาคบริการ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญๆ
ที่มา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยด้านลบ ได้แก่ ภาคส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจชะลอลง โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวเพียง 2.5% ในปี 2567 จากที่หดตัว 1.7% ในปีก่อนหน้า อีกทั้ง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ประชากรสูงวัย การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2567 คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 1.1% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 1.2% ในปีก่อน ปัจจัยดังกล่าวเพิ่มโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 เป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรฐกิจไทยยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม ได้แก่
- ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศแกนหลักของโลกที่สูงสุดในรอบกว่าสองทศวรรษอาจกดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการเงิน
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์
- ความเสี่ยงต่อภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจในยุโรป
- ภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (El Niño)
- สงครามรัสเซีย-ยูเครนและความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
- การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจซึ่งนำโดยสหรัฐฯ และจีน
ที่มา KKP Research, ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา