KKP Research: เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ปี 2021 GDP 3.5% ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดจนถึงปี 2022

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับคาดการณ์ GDP จากที่คาดไว้ปี 2020 และ 2021 โดยความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยและโลก 2 เรื่องหลักคือ หนึ่ง การประกาศความสำเร็จการทดลองวัคซีนโควิด-19 ขั้นต้น ช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนระดับหนึ่ง สอง ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้

KKP Research จึงปรับประมาณการตัวเลขการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2020 จาก -9% อยู่ที่ -6.7% การฟื้นตัวในระยะต่อไปจะยังคงเป็นไปได้อย่างช้าๆ ตามที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังไม่กลับมา

ประมาณการตัวแปรเศรษฐกิจที่สำคัญ

ปี 2021 ปรับตัวเลขการเติบโต GDP จาก 3.4% เป็น 3.5% เชื่อว่าระดับ GDP จะยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 จนถึงต้นปี 2022

การค้นพบวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การประกาศความสำเร็จของการทดลองวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech และ Moderna ขั้นต้น และการประกาศความสำเร็จของวัคซีน AstraZeneca ถือเป็นข่าวดีสำหรับไทย เพราะวัคซีนราคาถูก เก็บรักษาในตู้เย็นได้ ลดความเสี่ยงกรณีเลวร้ายที่จะไม่มีวัคซีน

KKP Reearch คาดว่าวัคซีนจะเริ่มออกใช้ได้ในประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีหน้า ภายใต้สมมติฐานที่ว่ามีประสิทธิผล 80% ใช้ระยะเวลาประมาณ 7 เดือน กรณีที่วัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่าที่คาดหรือที่ระดับ 95% จะทำให้ระยะเวลาหยุดยั้งการระบาดสั้นลงเป็น 6 เดือน ขณะที่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่คาดที่ระดับ 60% อาจต้องใช้เวลาถึง 10 เดือน สำหรับไทยคาดว่าจะได้รับวัคซีนในวงกว้างช่วงไตรมาส 3-4 ของปีหน้า

หากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศยังไม่สิ้นสุดลง ไทยอาจยังไม่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเสรี ด้านจีนก็มีความเสี่ยงว่าอาจให้คนเที่ยวภายในประเทศมากกว่าออกมาเที่ยวต่างประเทศตามแผนเศรษฐกิจห้าปีของจีนที่เพิ่งประกาศออกมา เน้นเติบโตจากในประเทศ

KKP Research ประเมินว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาในไทยช่วงครึ่งหลังปี 2021 และคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวสำหรับปี 2021 ไว้ที่ 6.4 ล้านคน

BANGKOK, THAILAND – MARCH 22: Quiet streets in Bangkok after the government announced a partial lockdown on March 22, 2020 in Bangkok, Thailand. On March 22, 2020 Bangkok imposed a partial lockdown of the city calling for the closure of shopping malls, restaurants apart from delivery, all sporting events, entertainment venues, beauty salons and more amidst the spread of Covid-19. Thailand announced 188 new cases, rasising the country’s total to 599 confirmed cases. (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

เศรษฐกิจไตรมาส 3 ของไทยฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ สาเหตุหลักมาจาก

  • การบริโภคภาคเอกชนมีการฟื้นตัวดีกว่าคาดมากในไตรมาส 3 สัดส่วนจีดีพีไตรมาสสามหดตัวเพียง 0.6% เท่านั้น เทียบกับไตรมาสสองหดตัวถึง -6.8% คาดว่าการบริโภคปี 2021 จะกลับมาเติบโตได้ที่ระดับ 3% ประกอบกับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศอย่างเราเที่ยวด้วยกันที่ขยายถึงมกราคม 2564 มีแนวโน้มขยายเพิ่มเติมอีก
  • การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวมากกว่าคาด รัฐจะยังต้องมีการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงปีนี้และปีหน้า ในฝั่งนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงอยู่ที่ระดับ 0.5% ไปตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ แม้ GDP ปีหน้าจะกลับไปเป็นบวก แต่เศรษฐกิจไทยจะอยู่ระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤตโควิด-19 อีกนาน เนื่องจากรายได้การท่องเที่ยวที่เคยมีบทบาทอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หดตัวลงอย่างหนักจากนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากปีละกว่า 40 ล้านคน เหลือเพียง 6 ล้านคนเท่านั้น คาดว่า เศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับช่วงก่อนวิกฤตโควิดได้ในไตรมาส 1 ปี 2022

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่ แนวโน้มการฟื้นตัวยังเปราะบาง แตกต่างกันมากในแต่ละอุตสาหกรรมและพื้นที่ ยังอยู่กับความไม่แน่นอนอย่างน้อย 3 ประการ

  • ธุรกิจการท่องเที่ยวยังคงต้องรับมือกับปัญหาสภาพคล่องและอาจส่งผลรุนแรงต่อภาวะจ้างงานและการบริโภค หากต้องรอถึงไตรมาส 3-4 ของปีหน้ากว่าที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาได้ตามที่หลายฝ่ายคาด มีโอกาสสูงที่ธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กต้องทยอยปิดตัวไปก่อนหน้านั้นเนื่องจากขาดสภาพคล่องหรือมีเงินไม่พอจ่ายในการดำเนินกิจการต่อไป ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวที่หายไปเท่านั้น แต่ธุรกิจที่ต่อเนื่องกันทั้งต้นน้ำ ปลายน้ำ จะต้องปิดกิจการลงไปด้วย

  • เงินบาทที่แข็งค่าอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวส่งออก ปี 2020 การส่งออกในหลายประเทศทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันฟื้นตัวดีมาก โตกลับมาเป็นบวกระดับสองหลัก จากสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี แต่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีค่อนข้างต่ำ แม้เศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และจีนจะฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินแต่ไทยก็ยังแข่งขันยาก
  • ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ เป็นอีกปัจจัยที่กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศและชะลอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยโครงสร้างหลายประการที่ทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันและความน่าดึงดูดในการเป็นเป้าหมายของการลงทุนจากต่างประเทศ

KKP Research ประเมินว่า นโยบายเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังยังมีศักยภาพในการดำเนินการเพิ่มเติมได้ รัฐบาลควรมีนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงหลายประการที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทยในระยะหน้า เพื่อประคองธุรกิจ สร้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ จนกว่าสถานการณ์ในสังคมและเศรษฐกิจโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ที่มา – KKP Research

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา