สาเหตุที่ KKP ปรับคาดการณ์ GDP ไทย มีทั้งปัจจัยภายนอก นั่นก็คือนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมทั้งนโยบายการค้าที่ไม่แน่นอนส่งผลต่อการตัดสินใจบริโภคและการลงทุน และปัจจัยภายใน หากไม่นับรวมภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอยแล้ว
เศรษฐกิจไทยหดตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 และกลับมาโตเป็นบวกเล็กน้อย แตะระดับ 0% ในช่วง 2 ไตรมาสล่าสุด การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยติดลบต่อเนื่อง
เครื่องยนต์ 3 ตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ดับพร้อมกัน
1) การท่องเที่ยว ที่ผ่านมา แนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมาและนิยมไปเที่ยวประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น แทนที่จะมาไทย
ส่งผลให้การท่องเที่ยวที่เคยเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เริ่มไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นักท่องเที่ยวจะมาไทยปีนี้ที่ 36.2 ล้านคน โตขึ้นกว่าปีก่อนเพียง 6 แสนคน
2) ภาคอุตสาหกรรมกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ส่งผลให้หดตัวมาตั้งแต่ปี 2565 แทนที่ปีนี้จะฟื้นตัวขึ้น แต่การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยลบที่ทำให้ฟื้นตัวได้ยากและส่งผลต่อสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ
3) ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัว จากข้อมูลการส่งออกภาคเกษตรที่หดตัวลงแรง โดยเฉพาะข้าวหลังอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวได้ในปีนี้ การส่งออกข้าวขาวติดลบเกือบ 30% ในไตรมาสแรก รายได้ชะลอตัวลง การบริโภคในประเทศชะลอลง
นโยบายการค้าที่ไม่แน่นอนส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย 3 เรื่อง ดังนี้
1) ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ กรณีที่มีการขึ้นภาษี 10% ต่อสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะทำให้ จีดีพีไทยอาจติดลบประมาณ 0.15%
2) การให้ข้อแลกเปลี่ยน ช่วงเจรจาอาจกระทบต่อเศรษฐกิจบางส่วน หากสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดภาคเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะเนื้อหมู เนื้อวัว และนม มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยจีดีพีภาคเกษตร หมู เนื้อวัว ไก่ มีสัดส่วน 8-9% ส่วนหมู-ไก่ 1.3% ภาคเกษตรมีบทบาทในการจ้างงานในชนบทกว่า 31% ของการจ้างงานทั้งหมด
3) ผลกระทบทางอ้อมหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากในอดีต ทุกการลดลงของ GDP โลก 1% ส่งผลให้ GDP ไทยลดลงประมาณ 0.6%
สิ่งที่จะทำให้ไทยกลับไปเศรษฐกิจโตใกล้เคียง 3% มี 3 กรณีด้วยกัน
กรณีแรก ภาคการท่องเที่ยวต้องขยายตัวมากปีละ 7-10 ล้านคนเหมือนช่วงที่จีนเข้ามาเที่ยวใหม่ๆ หรือนักท่องเที่ยวขยายตัวถึง 70 ล้านคนในปี 2573 (ปี 2030) เพื่อชดเชยอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง
กรณีที่สอง ภาคการผลิตไทยต้องกลับไปโตเฉลี่ยปีละประมาณ 5% เหมือนช่วงปี 2543 (ปี 2000) ก่อนที่การท่องเที่ยวจะขยายตัวแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นไปได้ยากเมื่อพิจารณาจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมหลังโควิดที่โตเฉลี่ยเพียง -.059%
กรณีสุดท้าย คือภาคเกษตร มีขนาดเล็กเกินไป คิดเป็น 8% ของ GDP การส่งออกภาคเกษตรในปัจจุบันก็ติดลบ เนื่องจากข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันกับราคาข้าวอินเดียได้
ภาคต่างประเทศอ่อนแอ สินเชื่อธนาคารปรับตัวแย่ลง เพราะหนี้เสียในภาคธนาคารปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อ
ที่มา – KKP
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา