KKP Research เผย 3 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยติดหล่ม ถ้าไม่ปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม

เกียรตินาคินภัทร เผย 3 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยเสี่ยงติดหล่ม ถ้าไม่ปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ผลที่เกิดขึ้นจะยังกระทบไปยังตลาดหุ้นของไทยด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในเอเชีย

โรงงานประกอบรถยนต์ Car Manufacturing Thailand
ภาพจาก Shutterstock

บทวิเคราะห์ล่าสุดจาก KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ได้เปิดเผยบริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม ที่อาศัยอำนาจตลาดเป็นจุดแข็งและยังมีสัดส่วนบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีและสารสนเทศ
ไม่ถึง 3% ของมูลค่าตลาด จึงฟื้นตัวหลังโควิดช้ากว่าตลาดต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะเดียวกันภาคเศรษฐกิจไทยนั้นกลับพบ 3 อุปสรรคสำคัญทำให้บริษัทเทคโนโลยีเกิดได้ยาก

ในบทวิเคราะห์ได้ชี้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาแม้การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเริ่มคลี่คลายลงในหลายประเทศ แต่ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนหน้านั้นได้ ซึ่งแตกต่างกับหลายประเทศที่แม้จะยังเผชิญกับสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดรุนแรงกว่าไทย แต่ตลาดหุ้นกลับฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า โดยเฉพาะตลาดหุ้นในเศรษฐกิจที่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีในระดับสูง ทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือไต้หวัน ล้วนกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วกว่า

ขณะเดียวกันประเทศไทยเองกำลังจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไทยนั้นก็ยังขาดปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการยกระดับทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D รวมไปถึงโครงสร้างผลตอบแทนและแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจไทยไม่ได้ให้เอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในวงกว้าง

KKP Research ยังชี้ว่าความเสี่ยงที่ไทยจะประสบหากไม่เร่งพัฒนาความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ประกอบไปด้วย

  1. ธุรกิจเดิมที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองจะล้มหายตายจากไปอย่างไม่ทันตั้งตัว ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีถึง 2 ใน 3 ของมูลค่าตลาด ซึ่งอาจสะท้อนได้ถึงความเสี่ยงจากเทคโนโลยีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมหากภาคธุรกิจเดิมไม่ปรับตัว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่นำไปสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้ดีกว่า หรือสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในกลุ่มใหญ่ได้กว้างกว่าและลึกกว่าผ่านความเร็วในการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ (Business Landscape) ในหลายธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไปโดยสิ้นเชิง
  2. ไทยจะไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ ปัจจุบันไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและจำนวนประชากรวัยแรงงานเริ่มลดลงแล้วนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ขณะที่สินค้าส่งออกของไทยเริ่มไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ภายใต้โครงสร้างการผลิตแบบเดิม ซึ่งเสี่ยงต่อการที่ไทยจะติดกับดักรายได้ปานกลางไปอีกนานถึงแม้จะอยู่ในระดับนี้มาแล้วเป็นเวลาเกือบ 30 ปี
  3. เศรษฐกิจไทยจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้น้อยลง และความเสี่ยงการย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ด้านค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะประชากรวัยทำงานที่หดตัว และยังสูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นให้กับประเทศอื่นในอาเซียนที่มีค่าแรงต่ำกว่า นอกจากนี้ความเสี่ยงต่อการย้ายฐานการผลิตออกจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านยังสะท้อนได้จากผลสำรวจของ JETRO ล่าสุดที่บ่งบอกว่าไทยไม่เนื้อหอมในหมู่นักลงทุนญี่ปุ่นอีกต่อไป เนื่องจากสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นพิจารณาเป็นปัจจัยแรกในการเลือกประเทศที่จะไปลงทุน ก็คือสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี รวมถึงปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานทางด้าน IT ที่บริษัทญี่ปุ่นมองว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างความสามารถในการเติบโตให้กับธุรกิจผ่านเทคโนโลยี

สำหรับแนวทางในการยกระดับเทคโนโลยีรวมถึงการสร้างนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ในบทวิเคราะห์ของ KKP Research ได้ยกข้อเสนอได้แก่ ควรลดอำนาจตลาดของผู้เล่นรายใหญ่และลดกฎระเบียบให้ผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ การสร้างระบบการศึกษาที่หลากหลายและมีส่วนร่วมเพื่อสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์ รวมไปถึงส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทางเทคโนโลยีในประเทศโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทย

โดยอุตสาหกรรมที่ไทยมีความได้เปรียบและสามารถลงทุนทางเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดโดยง่าย ได้แก่ อาหารและบริการอาหาร เกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์จากการเกษตร การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ การค้าออนไลน์รวมไปถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ และการส่งเสริมการลงทุนทางเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้

บทวิเคราะห์ฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ