ความกังวลเรื่องการระบาดระลอกใหม่ และ การกระจายแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุดในเวลานี้ โดย KKP Research ได้คาดการณ์ว่า GDP ของไทยปี 64 จะเติบโตขึ้น 2%
จับตามอง 3 ปัจจัยกำหนดเศรษฐกิจ
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร บอกว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจ ทาง KKP Research ได้ปรับลดอัตราการเติบโต GDP เป็น 2% พร้อมให้ติดตาม ‘มาตรการควบคุมโรค-วัคซีน-มาตรการกระตุ้น’ 3 ประเด็นหลักที่จะกำหนดเศรษฐกิจ
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า กระทบภาคส่วนต่างๆ แตกต่างกัน และมีความไม่แน่นอนสูง โดยได้ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ปี 2564 ลงจาก 3.5 เป็น 2.0 จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่นำไปสู่การออกมาตรการจำกัดการระบาดและการชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนต่างๆ อาจทำให้ความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศล่าช้าออกไปอีก ในกรณีเลวร้ายหากประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จนต้องมีมาตรการจำกัดที่ยาวนานขึ้น และไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี อาจมีความเสี่ยงที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ -1.2 ในปีนี้ ทั้งนี้ สามปัจจัยหลักที่กำหนดเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่
(1) ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดรอบใหม่ ผลกระทบจากมาตรการควบคุมของรัฐ และขีดจำกัดของระบบสาธารณสุข ซึ่งหากการแพร่ระบาดใช้ระยะเวลานานในการควบคุม หรือจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุข อาจนำไปสู่การยกระดับความเข้มของมาตรการควบคุมภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศชะลอตัวลงอีกครั้ง
(2) ประสิทธิผล ผลข้างเคียง และการกระจายวัคซีน หากวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนทั้งในแง่ประสิทธิผลของการป้องกัน ผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือความล่าช้าในการได้รับและการกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชน อาจส่งผลต่อการควบคุมการระบาดและการเปิดการท่องเที่ยว และ
(3) นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ประคับประคองความอยู่รอดของภาคธุรกิจและแรงงาน และกระตุ้นเพื่อชดเชยกำลังซื้อและความต้องการในการลงทุนที่หายไปจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง
ประเด็นน่าห่วงอีก 2 เรื่อง ความเหลื่อมล้ำ-ความสามารถแข่งขัน
นอกเหนือจากการรับมือปัญหาเฉพาะหน้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นระยะยาวที่ KKP Research เห็นว่าควรได้รับความใส่ใจ คือ
(1) ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากวิกฤตโควิด ทั้งโอกาสในการศึกษาและโอกาสด้านการทำงาน และ
(2) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการแข่งขันในตลาดส่งออกและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะยิ่งเป็นปัญหามากยิ่งขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภค โครงสร้างการค้า และห่วงโซ่การผลิตโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19” ดร.พิพัฒน์ กล่าวกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา