KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร คาดการ์การเติบโตของ GDP ไทย 2021 ซึ่งปรับลดลงจาก 3.5% เป็น 2.0% เนื่องจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงัก ต้องมีการปรับประมาณการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติใหม่ รวมถึงยังต้องรอดู การลุกลามของการติดเชื้อในประเทศ และการแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งในกรณีเลวร้าย KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวต่อเนื่องที่ -1.2% ในปี 2021
KKP Research มองว่า การระบาดระลอกใหม่และการปิดเมืองที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงจะส่งผลต่อธุรกิจในลักษณะใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 2 ปีก่อน คือ ธุรกิจที่จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของคน เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยวในประเทศ ร้านอาหาร การค้าปลีก จะได้รับกระทบรุนแรง ในขณะที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าอาจเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้
สัญญาณการฟื้นตัวของการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมายังกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจที่เริ่มกลับมาจ้างงานอีกครั้งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และฟื้นตัวได้ตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ เช่น อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ในขณะที่การจ้างงานในภาคบริการที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก อัตราการว่างงานในเดือนล่าสุดคือเดือนพฤศจิกายนยังอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 2.0% แต่มีแรงงานจำนวนมากที่แม้จะมีงานทำอยู่ แต่ถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง โดยผู้ที่เสมือนว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง และในจำนวนนี้ผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (อยู่ที่ 4.2 แสนคนในเดือน พ.ย. 2020 เพิ่มขึ้น 23% จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า)
อีกทั้งแรงงานทั้งในและนอกระบบที่ประกอบอาชีพค้าขายหรืออาชีพอิสระที่ยังคงทำงาน แต่รายรับน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา นั่นหมายถึงรายได้ที่หายไปของภาคแรงงานจะรุนแรงกว่าตัวเลขการเลิกจ้างมาก ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน
กลุ่มธุรกิจที่น่ากังวลที่สุดคือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการบริการที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา กลับถูกซ้ำเติมอีกครั้งจากการระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอ อาจนำไปสู่การเลิกจ้างงานในวงกว้างได้
จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง GDP 2021 อาจโตติดลบ
1) การลุกลามของการติดเชื้อในประเทศ ความพิเศษของเชื้อไวรัสโควิด ที่ทำให้ค่อนข้างยากที่จะควบคุมการแพร่ระบาด คือ การที่ผู้ติดเชื้อมีทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ (asymptomatic) โดยจากการรายงานของ CDC ซึ่งอ้างอิงสถิติล่าสุดในสหรัฐอเมริกาประเมินว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการมีถึง 40% และอาจสูงถึง 80% หากนับรวมผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้ไม่มีการตรวจพบ แต่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้โดยที่ไม่รู้ตัวทั้งผู้แพร่และผู้รับเชื้อ การที่ประเทศไทยไม่มีการตรวจเชื้อแบบเชิงรุกในวงกว้าง จึงมีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อแฝงที่สามารถแพร่เชื้อได้ (silent carriers) ในประเทศไทยจะสูงกว่าตัวเลขที่มีการรายงานอยู่หลายเท่าตัว ซึ่งจะทำให้การติดตามการสัมผัสและตรวจเชื้อ (tracing and testing) และการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปได้ยาก
อีกหนึ่งมิติที่แตกต่างของการระบาดครั้งนี้กับครั้งที่แล้ว คือ ในรอบนี้มีการแพร่ระบาดรุนแรงในกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว (migrant workers) ที่เป็นกำลังสำคัญในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ซึ่งอาจรวมถึงแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศและทำงานอย่างผิดกฎหมายด้วย ประกอบกับสภาพแวดล้อมในการทำงานและอยู่อาศัยที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ จะยิ่งทำให้การตรวจสอบและควบคุมในกลุ่มแรงงานทำได้ยาก หากสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มแรงงานขยายวงลุกลามขึ้น อาจมีความเสี่ยงที่ทางการจะมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในกลุ่มนี้และอาจกระทบต่อภาคการผลิตของไทยในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดและภาคอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเข้มข้น
2) ข้อจำกัดด้านสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ หากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเกินขีดความสามารถในการรองรับในด้านสาธารณสุข ก็อาจนำไปสู่มาตรการควบคุมการระบาดที่จำเป็นต้องเข้มงวดมากขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อจำกัดที่สำคัญในการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโควิด-19 อาจไม่ใช่จำนวนเตียงในโรงพยาบาลซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 177,000 เตียงทั่วประเทศ (มีการใช้การอยู่ 75%) ที่ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้จากการสร้างโรงพยาบาลสนามในกรณีจำเป็น แต่คอขวดในการรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 จะอยู่ที่ จำนวนห้องแยกโรคความดันติดลบ (negative pressure rooms) ที่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในอากาศ จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก (ICU beds) เครื่องช่วยหายใจ (ventilators) และจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วย ICU
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า หากจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล (active hospitalization) เพิ่มขึ้นถึง 15,000-20,000 คน (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 5,000 คน) จะถึงจุดที่เกินความสามารถด้านสาธารณสุขในการรองรับได้ และมีโอกาสที่จะเห็นมาตรการล็อคดาวน์กลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะเป็นผู้ป่วย ICU และ 50% ของทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่และใช้การอยู่ในปัจจุบัน สามารถนำมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดได้ อย่างไรก็ดี การกระจายตัวของทรัพยากรทางการแพทย์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อาจเป็นข้อจำกัดที่มากขึ้นในกรณีที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงในพื้นที่ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้น้อย
3) ประสิทธิผลและความครอบคลุมในการแจกจ่ายวัคซีน วัคซีนป้องกันโควิดเป็นกุญแจสำคัญ และเป็นความหวังที่ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง สำหรับประเทศไทยตามการรายงานของทางการ ไทยจะได้รับวัคซีน Coronavac ที่ผลิตโดยบริษัท Sinovac Biotech ของประเทศจีน รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนนี้ และได้สั่งจองวัคซีนจาก AstraZenaca อีก 26 ล้านโดส ซึ่งทางการคาดว่าจะได้รับในช่วงกลางปี 2564 และหากเป็นไปตามแผน ประชากรไทยประมาณ 20% จะได้รับวัคซีนภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงคือ ประสิทธิผลของวัคซีนหากไม่สามารถป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือมีผลข้างเคียงรุนแรง หรือการกระจายวัคซีนทำได้ช้า จะทำให้การประเมินการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มีความเสี่ยงที่จะไม่ฟื้นได้เร็วตามที่คาด และในกรณีเลวร้ายของไทยหากวัคซีนไม่เป็นไปตามที่หวัง อาจหมายถึงประเทศจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี 2564
นโยบายจำเป็นต้องทำมากขึ้น
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่าสถานการณ์ดังกล่าว มีความเสี่ยงอย่างมากต่อความอยู่รอดของภาคธุรกิจและภาวะความเป็นอยู่ของภาคครัวเรือน ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาในการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจและแรงงาน แม้บางโครงการ เช่น ‘คนละครึ่ง’ และ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ จะค่อนข้างประสบความสำเร็จและลงสู่ประชาชนและธุรกิจได้จริง แต่ก็ยังนับเป็นเม็ดเงินเพียงส่วนน้อย
หากเปรียบเทียบขนาดของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังกับประเทศอื่นจะพบว่าไทยยังมีการใช้จ่ายจากภาครัฐในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งการใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไว้ขนาด 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันยังถูกใช้ไปเพียงราวครึ่งหนึ่งเท่านั้น แสดงถึงความล่าช้าในการผลักดันมาตรการและโครงการต่างๆ ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผลและเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่าภาครัฐควรต้องผลักดันนโยบาย ทั้งมาตรการเยียวยาระยะสั้นเพื่อเป็นการประคับประคองภาคธุรกิจและแรงงาน และนโยบายการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวที่จะเป็นการเพิ่มการจ้างงานและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของ GDP ไม่ควรเป็นข้อจำกัดในภาวะวิกฤตที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนต่อประชาชนรุนแรงเช่นนี้ หากการกู้เงินของภาครัฐเป็นไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รั่วไหลน้อย และมีแผนในการรักษาวินัยทางการคลังอย่างเข้มงวด ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
(ดูบทความ “จากมาตรการเยียวยาสู่มาตรการกระตุ้นรอบใหม่ บทบาทภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน”)
ในด้านนโยบายการเงิน KKP Research มองว่านโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายเพิ่มเติม ทั้งเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคการคลัง และเพื่อเป็นการตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีในสถานการณ์ปัจจุบันที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มสะดุดลงจากการระบาดระลอกสอง โดยทั่วไปนโยบายการเงินจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการส่งผ่านเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง การตอบสนองที่ช้าจะเปิดความเสี่ยงให้เกิดการหดตัวขนาดใหญ่ของเศรษฐกิจ ผู้ทำนโยบายสามารถเร่งผ่อนคลายทางนโยบายผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม รวมถึงการพิจารณาใช้นโยบายการเงินแบบใหม่ (unconventional policy) อื่น ๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สภาพคล่องในระบบไหลไปสู่เศรษฐกิจจริงมากขึ้น และอาจช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทอีกทางหนึ่งด้วย ควบคู่ไปกับการเร่งปลดล็อคเงื่อนไขของมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เข้าถึงความช่วยเหลือได้จริงและเป็นวงกว้างมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา