เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า ความสามารถในการแข่งขันมีปัญหา แรงดึงดูดในการลงทุนจากต่างประเทศน้อยลง
ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผย 4 แนวโน้มสำคัญเศรษฐกิจโลก ดังนี้
1) เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเทศใหญ่ๆ เติบโตแตกต่างกัน
เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเล็กน้อย ในแง่ภาพรวมเศรษฐกิจ ทิศทางเศรษฐกิจประเทศใหญ่ค่อนข้างแตกต่างกัน สหรัฐอเมริกายังแข็งแกร่งมาก แม้จะอยู่ในโหมดชะลอตัวลง แต่ไม่ค่อยมีใครคิดว่าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย Q3 ที่ผ่านมาถือว่าเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในรอบหลายปี Momentum เศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง
ยุโรป GDP Q4 เป็นศูนย์ บางเศรษฐกิจติดลบ หลายประเทศใหญ่อย่างเยอรมนีจะเข้าสู่ภาวะถดถอย 2 ไตรมาส ส่วนจีนการฟื้นตัวไม่เป็นตามคาดหวังเท่าที่ควร อย่างสหรัฐอเมริกาถือว่าแข็งแกร่งมาก
2) อัตราดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุด เริ่มปรับตัวลดลง
อัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงจุดสูงสุด กำลังเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยลดลง ปัญหาใหญ่ของโลกคืออัตราเงินเฟ้อเริ่มทยอยปรับลดลงแล้ว เช่นในสหรัฐอเมริกาน่าจะทำให้ธนาคารกลางในประเทศใหญ่ๆ รวมทั้งประเทศที่เป็น Emerging Market ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้ช่วยลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจลงมา
3) การเมืองระหว่างประเทศมีความไม่แน่นอน
การสู้รบยูเครน-รัสเซียยังรบกันอยู่ ในตะวันออกกลางมีความเสี่ยงที่จะลามออกไปหาทะเลแดง คลองสุเอซ อาจลามไปยังสหรัฐอเมริกา-อิหร่าน อาจกระทบน้ำมันและอื่นๆ และกำลังจะมีเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก เป็นช่วงที่จะมีการออกมาใช้สิทธิ ใช้เสียงเลือกตั้งเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์โลก จะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนโยบาย หลายคนจับตาสหรัฐ อาจจะเป็น ไบเดน-ทรัมป์ อาจเกิดนโยบายที่ไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ ถ้าทรัมป์มา อาจมีเรื่องสงครามการค้า จะกระทบการค้า การลงทุนระหว่างประเทศและอีกหลายเรื่อง
4) การฟื้นตัวเศรษฐกิจของไทย
โดยรวมเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวช้าๆ เริ่มเห็นตัวเลข GDP ที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิด ตอนนี้ยังไม่กลับไปฟื้นตัวเหมือนช่วงก่อนโควิด ฟื้นตัวช้ามาก ไม่กี่ประเทศที่เป็นเช่นนี้ แรงส่งด้านเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังจำกัด การฟื้นตัวบริโภค ยังเป็นภาคบริการที่ทยอยฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบในช่วงโควิดและภาคการท่องเที่ยว
ทิศทางดอกเบี้ย อาจจะชั่งน้ำหนักเรื่องเสถียรภาพการเงิน ความเสี่ยงเงินเฟ้อ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ถ้ามองว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยเช่นนี้ Key factor คือ Digital Wallet ไม่แน่ใจว่าจะมาหรือไม่มา ถ้าไม่มา อาจจะยังแผ่ว ไม่มีแรงส่ง โอกาสลดอัตราดอกเบี้ยช่วงหลังของปีจะมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจถ้าไม่มี Digital Wallet อาจจะโตอยู่ที่ 2.9% แต่ถ้ามี Digital Wallet อาจโตได้ที่ 3.7%
ภาพระยะสั้น เศรษฐกิจไทยจะกลับไป 3% ส่วนภาพระยะยาว สมัยก่อน เศรษฐกิจโตเร็วกว่านี้ แต่โตช้าลงเรื่อยๆ ส่วนเครื่องจักรอื่นๆ นอกจากท่องเที่ยว การส่งออกก็ส่งสัญญาณว่าเราอาจจะโตได้ไม่เหมือนเดิม โตยากขึ้น ท่องเที่ยวไม่เหมือนเดิม คนกลับมาไม่เหมือนช่วงก่อนโควิดระบาด คนจีนออกมาน้อยกว่าก่อนเกิดโควิด ความรู้สึกที่จะกลับมาหาไทยก็เปลี่ยนไป
นอกเหนือจากการท่องเที่ยวคือความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก่อนโควิด เราเกินดุลการค้าและบริการ 6% ต่อปี แต่ตอนนี้ เกินดุลการค้าก็ไม่เหมือนเดิม ดุลบริการก็ไม่กลับมาเหมือนเดิม มันกำลังส่งสัญญาณบอกว่า เรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีปัญหาจริงๆ ช่วงหลังผู้ประกอบการเริ่มส่งเสียงว่าไม่สามารถแข่งขันจีนได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาในอนาคตคือรถยนต์ เดิมคือส่งออกรถยนต์ ตอนนี้เราเริ่มนำเข้า
ภาพรวมวันนี้เราเก่งอะไร อะไรเป็น Engine ของเรา สิ่งที่เราทำได้ดี เราเป็นเหมือนศูนย์กลางผลิตสินค้าเรโทร เราเก่งฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ มีคนย้ายฐานการผลิตมา ตอนนี้คนก็เริ่มใช้สินค้าน้อยลง จำนวนแรงงานก็มีปัญหา สิ่งที่ดึงดูดทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศก็น้อยลง คุณภาพแรงงานก็มีปัญหา สะท้อนจากคุณภาพการศึกษา การลงทุนมีอัตราที่ลดลงต่อเนื่อง เทียบกับก่อนเกิดวิกฤต 2540
ปัญหาคือ ถ้าไทยทำเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ ทั้งที่กำลังเจอความท้าทายเต็มไปหมด เราจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร ต้องปฏิรูปโครงสร้าง อาจจะต้องแก้ปัญหาระยะยาวมากขึ้น อย่างในญี่ปุ่น ช่วงรัฐบาลชินโซ อาเบะ ในปี 2012 เขาตั้งคำถามเดียว เจอปัญหา Deflation มาหลายปี ก็แก้ปัญหาโครงสร้าง 3 เรื่อง คือ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง การขึ้นภาษี ทำให้ปัญหาหนี้ไม่ระเบิดและนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
เขาใช้เวลาหลายปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มกลับมาโตได้ ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดที่นักลงทุนเริ่มกลับมาให้ความสำคัญ สถานการณ์เมืองไทยเป็นแบบนั้นเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ปัญหาระยะสั้นแต่มีระยะยาวด้วย กระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องสร้างความตระหนักรู้แก้ปัญหาเรื่องนี้ หาฉันทามติทางการเมืองเพื่อดูว่าอะไรที่ควรจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง วันนี้ไทยต้องคุยเยอะๆ ว่าอะไรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเรา
ถ้าเราทำเหมือนเดิม ก็จะกลายเป็นคนอ่อนแรงไปเรื่อยๆ ต้องหาทางเข้มแข็ง ทำให้เศรษฐกิจกลายเป็นเศรษฐกิจแห่งโอกาสอีกครั้ง ทำให้การเคลื่อนย้ายคนในสังคมเป็นไปได้มากขึ้น
ที่มา – KKP Research
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา