ภาคการส่งออกไทยเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย เพราาะในช่วง 10 ปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง (1997) สัดส่วนภาคการส่งออกต่อเศรษฐกิจไทยได้พุ่งขึ้นถึง 60% ต่อ GDP จากก่อนหน้าที่อยู่ราว 30% ต่อ GDP สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ ที่เกิดจากบริษัทข้ามชาติหันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก และผลดีจากเงินบาทที่อ่อนค่าหลังวิกฤต
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ไปจนถึง ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการค้าโลกช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น การส่งออกของไทยยังมีจุดอ่อนด้านไหนและต้องปรับโครงสร้างอย่างไร เพื่อยังเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า ภาคส่งออกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากว่า 30 ปีกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะจากข้อมูลสินค้าส่งออกสำคัญของไทยเริ่มแสดงถึงปัญหาของภาคส่งออกที่กำลังอ่อนแรงใน 3 ประเด็น คือ
- ไทยเป็นฐานการผลิตของสินค้าโลกเก่า สินค้าที่ไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลงเรื่อย ๆ จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและความต้องการของตลาด ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถดึงดูดและพัฒนาเทคโนโลยีของสินค้าที่เข้ามาทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์สันดาปและชิ้นส่วนยานยนต์ ที่กำลังถูกตีตลาดจากรถยนต์ไฟฟ้า, Hard Disk Drive (HDD) ที่กำลังถูกแทนที่ด้วย Solid State Drive (SSD) รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ความต้องการตลาดโลกลดลงตามกระแสเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น
- ไทยไม่มีสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่ สินค้าที่กำลังเติบโตได้ดีและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดโลกตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ Smart phone, semiconductor, และ SSD ไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
- สินค้าที่ยังพอมีโอกาสเป็นกลุ่มสินค้าซับซ้อนต่ำ สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อนในการผลิต และมีมูลค่าเพิ่มไม่มากนัก เช่น ผลไม้สด เนื้อสัตว์แปรรูป ยางรถยนต์ ซึ่งอาจยังเป็นสินค้าสำคัญของภาคส่งออกไทยต่อไปได้ (ยกเว้นยางพาราและข้าวที่มีไทยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด) อย่างไรก็ดี ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดโลกไม่ได้มีสัดส่วนเปลี่ยนไป และขนาดมูลค่าการส่งออกทั่วโลกของสินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้สูงมากนัก โดยสินค้าเกษตรสำคัญของไทยคือข้าวมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ยังพบว่า ประเทศคู่แข่งด้านการส่งออก อย่างเวียดนาม มาเลเซีย เริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าส่งออกไปเป็นสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น เช่น
- เวียดนามได้กลายเป็นฐานการส่งออก Smartphone แผงวงจรไฟฟ้า และ Solar cell ในตลาดโลกมากขึ้น
- มาเลเซียที่หันมาส่งออกสินค้าโลกใหม่ เช่น SSD มากขึ้นในตลาดโลก และเริ่มลดการส่งออกสินค้าโลกเก่าอย่าง HDD ลง
อีกประเด็นที่ต้องจับตามองคือ เศรษฐกิจไทยยังถูกตีตลาดจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 25% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดใน (จากเดิมที่ราว 15%) ที่ผ่านมาไทยต้องพึ่งพาจีนผ่านการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตใน Supply chains (ห่วงโซ่การผลิตของโลก) แต่ปัจจุบันสินค้าหลายชนิด จีนผลิตได้เองในต้นทุนที่ถูกกว่าและส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายมาที่ไทยโดยตรง ซึ่งอาจกระทบภาคการผลิตไทย ต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม KKP Research มองว่าปรากฎการณ์ที่สินค้าจีนตีตลาดไทย อาจส่งผลต่อกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ใน 3 ด้าน ได้แก่
- ความสามารถในการแข่งขันที่ยิ่งลดลง เพราะภาคการผลิตของไทยจะแข่งยากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกของจีนที่ราคาถูกกว่า ทั้งสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก รถยนต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า EV เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ยางรถยนต์
- มูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกไทยลดลง เหตุจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่รุนแรงขึ้น ทำให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าโดยตรงจากจีน ผู้ประกอบการจีนจึงโยกย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นเพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (Re-routing) รวมถึงไทย เช่น การส่งออกแผงโซล่าเซลล์ (Solar PV) ของไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา (ที่ส่งจากไทยไปจีน เพื่อเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ) หากแนวโน้ม Re-routing ขยายวงกว้างขึ้นไปยังสินค้าอื่นๆ จะทำให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศ ไม่เพิ่มขึ้นแม้การส่งออกจะยังเติบโตได้ก็ตาม
- จีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยตรงมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาต่อเนื่องจึงเข้ามาหาโอกาสใหม่ๆ ในอาเซียน (เช่น ภาคการผลิต, อสังหาริมทรัพย์, ภาคบริการ) โดยในปัจจุบัน การลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีนเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2022 แซงหน้าญี่ปุ่นแล้ว
ในแง่หนึ่งการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ก็จะทำให้ธุรกิจไทยเองต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันในตลาดในประเทศที่จะดุเดือดขึ้น
ความท้าทายนี้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 มิติ คือ
- ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง จากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เพราะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่าครึ่งหนึ่งมาจากภาคการส่งออกสินค้า
- แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงตกงานหรือรายได้ไม่โต
- ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจไม่กลับไปสูงเหมือนในอดีต สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะยาว
ทั้งนี้ สำหรับแนวทางออก KKP Research แนะนำว่าผลกระทบด้านลบทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หากแต่ต้องหานโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง (Supply-side structural reform policy) โดยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาและจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย เร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการรองรับการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งควรลดข้อจำกัดและกฎระเบียบในการทำธุรกิจ เพื่อเสริมให้ศักยภาพที่อ่อนแรงลงของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้ ควรมีการประเมินและหาแนวทางบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ จากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
ที่มา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา