KPP ประเมินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ไม่คุ้มเสีย หวังระยะสั้น แก้ไม่ตรงจุด ใช้งบมากถึง 3.6% ของ GDP แต่ได้กลับมาแค่ 1%

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ถึงการที่รัฐบาลใหม่ (ชุดนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน) กำลังจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มากที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย คือ การแจกเงิน 10,000 บาทให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งคิดเป็นต้นทุนกว่า 560,000 ล้าน บาท หรือคิดเป็นกว่า 16% ของงบประมาณและ 3.2% ของ GDP 

นอกจากนี้ยังรวมถึงมาตรการอุดหนุนด้านราคาอื่น ๆ เช่น การลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก เป็นต้น ทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมและต้นทุนของนโยบายเหล่านี้ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไป ว่าการเร่งกระตุ้นระยะสั้นเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะยาวอย่างไร 

หากย้อนถึงรัฐบาลในอดีตที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมาแล้วหลายครั้ง บางช่วงอาจเห็นเศรษฐกิจมีการเติบโตในระดับสูง แต่หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าไทยได้รับประโยชน์จากแรงหนุน (tailwinds) จากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น

  • ช่วงหลังปี 1997 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่มีมาตรการเช่น การพักหนี้เกษตร การอัดฉีดเงินไปสู่ระบบ ส่วนหนึ่งที่เศรษฐกิจเติบโตระดับสูงเพราะ โลกาภิวัฒน์ที่เติบโต และการอ่อนค่าของค่าเงินบาทซึ่งทำให้ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้น 3 เท่า (รูปซ้ายมือ)

 

 

  • ช่วงปี 2011-2014 Subprime Crisis ที่กลายเป็นวิกฤตการเงินไปทั่วโลก มีมาตรการ เช่น โครงการรถคันแรก, โครงการจำนำข้าว มาตรการด้านภาษี ฯลฯ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2012 ขยายตัว ได้มากถึง 7% แต่การเติบโตดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นโดยเศรษฐกิจไทยในปี 2013-2019 กลับมามีการเติบโต เฉลี่ยที่ประมาณ 3% ต่อปีเท่านั้น (รูปขวามือ)

 

สรุปคือภายใต้บริบทของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ทั้งปัจจัยที่เคยหนุน ได้กลายเป็นแรงต้าน การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ไทยกลับมาเติบโตในระดับสูง (เหมือนเดิม) ได้ยาก 

ดังนั้นการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อาจส่งผลให้ทั้งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจลดน้อยลง และมีต้นทุนต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก ซึ่งสะท้อนจากหลายประเด็น คือ 

  1. ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขัน มากกว่า ปัญหาด้านอุปสงค์ เห็นได้จากเศรษฐกิจไทยไม่ได้เพิ่งชะลอตัวในช่วงนี้ แต่มีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลงมาเรื่อย ๆ 
  2. วัฏจักรเศรษฐกิจโลก สินเชื่อในประเทศที่ชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยกำลังเจอแรงต้านที่สำคัญ 
  3. ข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจของไทยที่มากขึ้น ทั้งด้านต่างประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับต่ำลง และด้านการคลังที่หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงเป็นความเสี่ยงต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรและค่าเงินบาท ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เพียงนโยบายการแจกเงินช่วยไม้ได้

ทั้งนี้ จาการรวบรวมผลการศึกษาจากทั้งไทยและต่างประเทศ พบว่าผลที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ หรือเรียกว่า Fiscal Multiplier ในการแจกเงินเป็นการทั่วไป มีขนาดต่ำกว่า 1x หมายความว่า แม้ว่าการแจกเงินเป็นการทั่วไปอาจทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย แต่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าต้นทุนต่อรัฐจากเงินที่แจกออกไป เพราะ 

  1. การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของคนส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายเพื่อทดแทนสินค้าเดิมที่มีการใช้จ่ายอยู่แล้ว 
  2. การใช้จ่ายบางส่วนมีสัดส่วนของการนำเข้าค่อนข้างสูง (Import Leakage)
  3. อาจมีการนำอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ ทำให้มีการปรับลดการใช้จ่ายเมื่อโครงการจบลง นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่จะเข้าร่วมและใช้จ่ายเงินทั้งหมด 

สรุปแล้ว KKP Research ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดที่รัฐบาลใหม่กำลังจะดำเนินการจะช่วยกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1% จากต้นทุนด้านงบประมาณที่ต้องใช้สูงถึงกว่า 3.6% ของ GDP หรือคิดเป็น 18% ของวงเงินงบประมาณเดิม การขาดดุลการคลังต่อปีที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐและต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้หนี้สาธารณะแตะกรอบบนที่ 70% ได้เร็วขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี 

อย่างไรก็ตามมองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ อาจส่งผลกระทบทางอ้อมที่ ได้แก่

  1. การใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากและการตรึงราคาสินค้าในประเทศ จะทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะ Twin deficits หรือขาดดุลการคลังพร้อมกับการดุลบัญชีเดินสะพัด ความกังวลของนักลงทุนส่วนหนึ่งสะท้อนในการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและการปรับตัวอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา
  2. การขาดดุลของภาครัฐ ภาระจากมาตรการกึ่งการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และความกังวลต่อวินัยทางการคลังของรัฐ เพิ่มความเสี่ยงให้รัฐบาลไทยอาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง ภาระทางการคลังที่มากขึ้นหมายความว่าความจำเป็นต้องมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้สภาพคล่องในตลาดที่ตึงตัวจะทำให้ต้นทุนทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยทั้งในตลาดพันธบัตรและในธนาคารปรับตัวสูงขึ้น เกิดปัญหา “Crowding out effect” การลงทุนภาคเอกชนลดลง และความเสี่ยงสำคัญที่ตามมา คือ ประเทศไทยอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง
  3. ต้นทุนค่าเสียโอกาสของไทยจากการใช้จ่ายในจำนวนเงินมากถึง 560,000 ล้านบาทจะทำให้รัฐบาลไทยมีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงการอื่น ๆ ที่เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นอกจากนี้ KKP Research ประเมินว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันที่เน้นเฉพาะการกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้นอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด แต่ควรมุ่งเน้นใน 2 ด้านคือ 

  1. มาตรการให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะกลุ่ม (targeted measures) ที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจและรายได้ที่ชะลอตัว ซึ่งสอดคล้องต่อเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง ซึงมีประสิทธิผลคุ้มค่ากว่าแจกถ้วนหน้าแบบไม่เจาะจง
  2. นโยบายภาครัฐไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวฝั่งอุปทานของเศรษฐกิจไทย ควรเน้นนโยบายที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในระยะยาว, เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน, ลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นและสร้างต้นทุนต่อการทำธุรกิจ, ลดการคอร์รัปชันและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ, ปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานและสร้างทรัพยกรบุคคลที่มีคุณภาพ, สร้างแรงจูงใจในการจัดสรรทรัพยากรจากภาคเศรษฐกิจที่อยู่ในโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น

 

ที่มา KKP Research 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา