KKbox ปิดให้บริการเรียบร้อย บริการ Music Streaming รายอื่นในไทยจะเป็นอย่างไร

kkbox-cover-close-service

หลังจากเปิดให้บริการมาก็หลายปี ในที่สุด KKbox ก็ต้องประกาศยกเลิกการให้บริการในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย โดยวันสุดท้ายในการให้บริการ ผ่าน dtac ในฐานะสมาชิกพรีเมียมคือ 31 ต.ค. 2559 (คิดค่าบริการถึงวันที่ 30 ก.ย.) ส่วนให้บริการผ่าน AIS ใช้งานสมาชิกพรีเมียมได้ถึง 31 ธ.ค. 2559 (คิดค่าบริการถึง 30 พ.ย.) ถ้าต้องการยกเลิกก่อนถึงกำหนด ติดต่อที่คอลล์เซ็นเตอร์ได้เลย หรือ คลิกดูรายละเอียดที่นี่

แม้ว่าคนไทยจะหันมาบริโภคคอนเทนต์ด้านเพลง อย่างถูกกฎหมายมากขึ้น ยิ่งบริการแบบ Music Streaming คิดค่าบริการแบบรายเดือนซึ่งก็ไม่ได้แพงมากนัก และยิ่งผู้ให้บริการมือถือ มีแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตดาต้า ที่ใช้ได้แบบ “ยากที่จะหมด” หรือยังมีแบบไม่จำกัดให้เลือกด้วย Music Streaming จึงเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

kkbox-close

แต่กระนั้น KKbox ก็ยังปิดกิจการไป อาจเพราะการหารายได้ไม่คุ้มค่ากับ ค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องจ่ายให้กับต้นสังกัดและศิลปิน

ลองไปดูว่า รายอื่นๆ ที่ยังเหลือในตลาดมีใครบ้างที่โดดเด่น และน่าใช้บริการ

joox

JOOX แพล็ตฟอร์มที่ Playlist ดีจนน่าติดใจ

JOOX เป็นหนึ่งใน Music Streaming ที่เปิดบริการมาไม่นาน แต่สามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ใช้ได้ เพราะ Playlist ที่มีความหลากหลาย และจัดกลุ่มออกมาได้น่าสนใจ ฟังแล้วไม่เบื่อ กินพลังงานและดาต้าไม่มาก ดาวน์โหลดมาฟังออฟไลน์ก็ได้ และถ้าเพลงไหนติด VIP ก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อพรีเมียม แค่แชร์ไปบน Facebook ได้สิทธิ์ฟัง VIP ฟรีๆ 1 วัน เพลงไทยเยอะ เพลงสากลก็แยะ ถือว่าดีงาม

LINE MUSIC

ปิดให้บริการแล้วเช่นกัน

fung-jai

“ฟังใจ” ทำให้อินดี้หาไม่ยากอีกต่อไป

สำหรับคอฟังเพลงอินดี้ไทย ที่ปัจจุบันถึงจะมี YouTube แต่ก็ค้นหายากอยู่ดี “ฟังใจ” จึงเกิดขึ้นมา โดยวางตัวเป็นแพลตฟอร์มรวมเพลงอินดี้ไทยไว้มากที่สุด และเปิดรับวงอินดี้ใหม่ๆ ให้ส่งผลงานขึ้นมาบนแพลตฟอร์มได้ฟรี และที่ “ฟังใจ” แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นคือ ให้ฟังฟรี 100% ส่วนรายได้ก็ไม่ต้องกลัว มาจากการขายสปอนเซอร์ในคอนเสิร์ต และเป็นช่องทางจำหน่ายแผ่นซีดีให้กับศิลปินอินดี้ๆ ต่างๆ เช่นกัน

tidal

หูทองคำ ต้องนี่เลย Tidal

ถึงบางเจ้าจะเริ่มเคลมตัวเองในเรื่องคุณภาพของเสียง แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครเทียบ Tidal ได้ เพราะเรื่องคุณภาพเสียงระดับ Lossless เทียบเท่าแผ่น Master ซึ่งคุณภาพเหล่านี้ก็ต้องแลกมาด้วยค่าบริการที่สูงเช่นกัน แบ่งเป็น 179 บาท/เดือน เป็นเสียงกลางๆ และ 358 บาท/เดือน เป็นเสียงระดับ Lossless ที่สำคัญเพลงในแพลตฟอร์มนี้เกือบทั้งหมดเป็นเพลงสากล ดังนั้นคอเพลงไทยคงไม่ใช่ตัวเลือก

apple-music

อินเตอร์ตัวจริง ก็ต้อง Apple Music

ไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์จากแอปเปิล แต่ถ้าชอบเพลงสากลเป็นหลัก เพลงไทยเป็นรอง แอปเปิล มิวสิค เป็นทางเลือกที่ดีและน่าสนใจ จ่ายเงินค่าบริการรายเดือนร้อยกว่าบาท ฟังเพลงไปได้เรื่อยๆ

สรุป

ยังมีผู้ให้บริการอื่นๆ เช่น Spotify ที่หลายคนในไทยก็รออยู่ (แต่ยังไม่มาเปิด) Deezer ที่เคยเข้ามาให้บริการผ่าน dtac ยิ่งย้ำให้รู้ว่า ตลาดนี้แข่งกันหนักหนาพอสมควร และน่าจะเหลือผู้เล่นในตลาดหลักไม่มากนัก นอกนั้นอาจเป็นกลุ่มเฉพาะทาง

ผู้ให้บริการ Music Streaming สะท้อนให้เห็นภาพ การหารายได้จากคอนเทนต์ ที่ต้องอาศัย “ตลาด” ที่ขนาดใหญ่จริงๆ เพื่อความอยู่รอด เช่น แอปเปิล มิวสิค ที่สามารถขายเพลงได้ทั่วโลก และด้วยการลงทุนแพล็ตฟอร์มครั้งแรก จากนั้นจะได้ส่วนแบ่งรายได้จากศิลปินต่างๆ ไปเรื่อยๆ เป็นเกมธุรกิจระยะยาว ที่ถ้าไม่มีรายได้ทางอื่นมาช่วยก็คงลำบาก และยังต้องแข่งกับคู่แข่งในตลาดอีกจำนวนไม่น้อย ไม่งั้นสุดท้ายก็ต้องเลือกปิดบริการไปแบบ KKbox นั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา