ปัจจุบันภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว และหลายธุรกิจรายย่อยเริ่มต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อมาต่อยอดธุรกิจให้เติบโตล้อไปกับกระแสดังกล่าว
แต่การจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากเดินไปหาสถาบันการเงิน ก็ต้องถูกตรวจสอบความน่าเชื่อถือ และอาจมีบ้างที่จะไม่ผ่าน จนสุดท้ายต้องออกไปกู้เงินนอกระบบ หรือบางกลุ่มก็ผ่าน แต่ผ่านแบบปลอมแปลงเอกสาร
เพื่อสร้างความแฟร์ให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการแหล่งเงินทุนไปทำธุรกิจจริง ๆ ธนาคารกสิกรไทย จึงจัดตั้ง บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ KIV เพื่อมาช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยโดยเฉพาะ โดยมีรายละเอียดดังนี้
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากการตอบโจทย์ได้ไม่เต็มที่
บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด หรือ KIV มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าถึงเงินทุนผ่านสินเชื่อ เพราะก่อนหน้านี้การที่ผู้ประกอบการจะเข้ามาขอสินเชื่อ ทางธนาคารต้องการหลักประกัน รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ
“การที่ผู้ประกอบการเข้ามาขอสินเชื่อ ถ้าข้อมูลเขาน้อยเราก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาพิจารณา และเป็นที่มาของบริการช่วยแต่ง Statement รวมถึงปลอมแปลงข้อมูลอื่น ๆ ทำให้ทางธนาคารเสี่ยง จนต้องเปลี่ยนมุมมองในการอนุมัติใหม่” พัชร สมะลาภา Group Chairman บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด กล่าว
ในทางกลับกันการที่ธนาคารกสิกรไทยจะดำเนินการทุกอย่างเพียงคนเดียวเพื่อเข้าถึงตลาดในวงกว้างย่อมมีต้นทุนที่สูง และถึงจะไปให้บริการสินเชื่อที่พิจารณาผ่านบริการดิจิทัลได้พิสูจน์แล้วว่ามีความเสี่ยงสูง การแยก KIV ออกมา พร้อมกับเปลี่ยนมุมมองในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการต่าง ๆ จึงจำเป็นมากกว่าเดิม
มีทุนเยอะ แต่ไม่รู้จะเอาไปปล่อยให้ใครดี
“ยอมรับว่าเรามีเงินทุนเยอะ และรู้ว่าผู้ประกอบการต้องการได้เงินทุนไปต่อยอดธุรกิจ แต่เราไม่รู้จะไปปล่อยเงินทุนนี้ให้ใคร ประกอบด้วยปัญหาเรื่องสินเชื่อที่ช่วยลูกค้าทำธุรกิจมีน้อย และปล่อยยาก ทั้งมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ถูกจำกัด 25% ซึ่งถ้าให้คุ้มต้นทุนต้องใช้เวลา 7 ปีถึงจะคุ้มทุน และต้องเป็นกรณีที่ธุรกิจไม่ผิดชำระ”
จากปัจจัยทั้งหมดทำให้ KIV เปลี่ยนมุมมองการดำเนินธุรกิจสินเชื่อเพื่อธุรกิจด้วยการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามายกระดับการพิจารณาให้เป็นมุมมองใหม่ ผสานกับเครือข่ายสาขาทั่วประเทศไทยที่ช่วยให้เข้าถึง และรู้จักผู้กู้ว่ามีตัวตน และพวกเขาต้องการนำเงินนั้นไปต่อยอดธุรกิจจริง
“ตัวอย่างที่ดีคือเรามี JK (บริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด) ที่เชี่ยวชาญการติดตามหนี้ เป็นพาร์ตเนอร์ ซึ่งเขาโทรหาผู้ที่ผิดนัดชำระกว่า 9 แสนสาย/วัน อย่างน้อยก็ช่วยเหลือให้ KIV รับรู้ว่า ถ้าปล่อยสินเชื่อไปแล้วก็มีคนช่วยตาม ส่วนเรื่องพิจารณาเราก็มีการนำ Digital Footprint ของผู้กู้มาช่วยพิจารณาควบคู่กับเรื่องอื่น”
ESG ผ่านวิธีการช่วยคนดี คนมีอนาคต
ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของ KIV ยังตอบโจทย์นโยบาย ESG ด้านการช่วยเหลือสังคม ผ่านการค้นหาคนดี คนมีอนาคต เพื่อให้สินเชื่อพวกเขาไปต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการเข้าถึงที่ง่าย รวดเร็ว แตกต่างจากในอดีตที่จะต้องเจอกับปัญหาดังข้างต้นที่กล่าวมา
“เรามีลูกค้า K Plus กว่า 20 ล้านราย และมีเงินทุน ข้อมูล ไอที กับสาขาทั่วไทย KIV จึงมีความเข้าใจลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถให้บริการการเงินที่ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย เจ้าของร้านค้ารายเล็ก กลุ่มไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่องให้ใช้บริการเงินในระบบได้ดีขึ้น”
ปัจจุบัน บริษัทที่อยู่ในโครงสร้างของ KIV ประกอบด้วย 14 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท และถือเป็นการแยกธุรกิจ K Leasing ออกมาจากธนาคารกสิกรไทย เพื่อทำให้บริษัทใหม่นี้ดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว และสร้างผลกำไรได้ดีขึ้น
คาดการณ์ผลกำไร 5,000 ล้านบาท ในปี 2026
KIV มีการตั้งคาดการณ์ผลกำไรในปี 2026 ที่ 4,500-5,000 ล้านบาท ผ่านมูลค่าการลงทุนรวม 65,000-70,000 ล้านบาท เป็นจำนวนการลงทุน 14 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่มีผลกำไร 81 ล้านบาท และปี 2023 ที่ 900-1,100 ล้านบาท
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เสริมว่า KIV เป็นบริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เพื่อลงทุนในบริษัทร่วมกับพันธมิตร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (Empower Every Customer’s Life and Business)
“ธนาคารมั่นใจว่า การปรับครั้งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อย และสร้างรายได้ใหม่ให้กับธนาคาร ทำให้ธนาคารมีกำไรทางธุรกิจที่สูงกว่าธนาคารบริหารจัดการเอง รวมทั้งทำให้ธนาคารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา