ร่วมศึกษาตลาด Live Streaming ไปกับ Kitty Live หลังทุ่มทุนจ้างเน็ตไอดอล 2,000 คน บูมธุรกิจ

Live Streaming กลายเป็นบริการที่ถูกจับตามอง เพราะเริ่มมีดารานักแสดง และช่องโทรทัศน์หันมาใช้บริการนี้เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค แต่รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น และเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาล

รูปแบบการใช้งาน Kitty Live

Kitty Live กับการจ้างคนดัง-เน็ตไอดอลบูม Live Streaming

ผู้บริโภคปัจจุบันอาจคุ้นเคยการ Live Streaming ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook Live และ YouTube Live แต่ยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ เกือบ 10 รายที่ให้บริการนี้อยู่ พร้อมชูจุดเด่นเรื่องการดึงพริตตี้ และเน็ตไอดอลเข้ามา Live พร้อมสร้างรายได้ให้กับตัวเองเหมือนกันทุกราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Kitty Live แพลตฟอร์ม Live Streaming จากประเทศจีน ที่สามารถระดมทุนขึ้น Series A มูลค่ากว่า 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 740 ล้านบาท) โดยมีผู้ใช้งาน 10 ล้านดาวน์โหลด ใน 100 ประเทศที่ให้บริการอยู่ และหวังยอดสิ้นปีนี้ที่ 100 ล้านดาวน์โหลด

ณอน ชู ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ Kitty Live เล่าให้ฟังว่า Live Streaming กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ในการใช้งานบนโลกออนไลน์ และการนำนวัตกรรมนี้มาปรับเป็นโมเดลธุรกิจก็น่าจะเป็นไปได้ จึงตัดสินใจสร้างแพลตฟอร์มนี้เมื่อกลางปี 2557 และให้บริการในประเทศจีนก่อน ผ่านการใช้กลยุทธ์เซ็นสัญญากับผู้สนใจทำอาชีพ Broadcaster หรือนักจัดรายการบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกับดารานักแสดง และคนดังบนดิจิทัล ให้มาจัดรายการในแพลตฟอร์มของบริษัท จนทำให้รายได้ทั่วโลกของบริษัทอยู่ที่ 2-3 ล้านดอลลาร์

ฌอน ซู ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ KITTY LIVE

ตั้ง Presenter ลบภาพลักษณ์ 18+ พร้อมจ้างไอดอล 2,000 คน

“กระแสการ Live Streaming ไม่ได้บูมแค่สหรัฐอเมริกา หรือในประเทศจีน แต่เริ่มแพร่หลายมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย กับอินโดนีเซีย ที่มีผู้เล่นหลายรายเข้ามาให้บริการ ซึ่ง Kitty Live ก็เป็นหนึ่งในนั้น ผ่านการเข้ามาเมื่อ 6 เดือนก่อน แต่ถึงจะเข้ามาช้า ก็ได้เปรียบเรื่องข้อมูลในตลาด เพราะความคิดของผู้ใช้ในไทยมองแพลตฟอร์ม Live Streaming กลุ่มนี้ว่าเป็นสื่อโป๊เปลือย ดังนั้นเราจึงต้องเข้าปรับความคิดนี้ใหม่ และตัดสินใจจ้าง ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ เป็น Presenter เพื่อช่วยโปรโมทด้วย จนทำให้มียอดผู้ใช้ 3 ล้านดาวน์โหลดในไทย”

ขณะเดียวกันยังว่าจ้างคนดัง และเน็ตไอดอลในประเทศไทยกว่า 2,000 คน เช่น แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์, วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา และ Bie The Ska เข้ามาจัดรายการสดภายในแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างเครือข่าย Live Streaming คุณภาพอีกด้วย นอกจากนี้ยังเตรียมหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจเพิ่มเติม เช่น Lazada, OPPO, AIS และช่องวัน เพื่อโปรโมทแพลตฟอร์มนี้ในช่องทางดังกล่าว โดยแลกกับการให้ Broadcaster ไปร่วมกิจกรรมทางการตลาดให้กับโครงการต่างๆ ของพาร์ทเนอร์ได้

ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ เป็น Presenter ของ Kitty Live

เงินสะพัดมหาศาล ขอแค่จัดรายการให้ถูกใจผู้ชม

อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจของ Kitty Live ไม่ได้มีแค่หาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ แต่ยังจำหน่าย Ruby หรือค่าเงินภายในแพลตฟอร์ม เริ่มต้นที่ 35 บาท ได้ 54 Ruby เพื่อใช้ซื้อของขวัญให้กับ Broadcaster ที่ชื่นชอบ และเป็นกำลังใจให้นักจัดรายการมีแรงในการผลิต Content ส่วนฝั่ง Broadcaster เอง นอกจากได้ค่าจ้างในการเซ็นสัญญาแล้ว ยังได้ส่วนแบ่งจากจำนวนของขวัญที่ผู้ใช้บริการส่งมาให้อีกด้วย โดยสถิติผู้ใช้งานที่ซื้อ Ruby สูงสุดอยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์/ครั้ง และมีในไทยมี Active User 1 แสนคน/วัน และภายในสิ้นปีนี้จะมียอดแตะ 7 ล้านดาวน์โหลด

สำหรับตลาด Live Streaming ในประเทศไทย จะประกอบด้วยผู้เล่นเกือบ 10 ราย เช่น Bigo Live, TalkTalk ของการีนา, iShow ของ Winner Online และ TuTu Live ซึ่งทุกรายนั้นเดินด้วยโมเดลธุรกิจคล้ายกัน แต่ทาง Kitty Live จะมีจุดต่างเรื่องหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ และพยายามก้าวสู่สถานีโทรทัศน์ออนไลน์ของประเทศไทย เพราะปัจจุบันมีแต่ Content รายวัน ไม่ได้มีการ Live Streaming ในเชิง Commercial มากนัก ถือเป็นอีกแพลตฟอร์มที่ต้องจับตามองเลยทีเดียว

สรุป

แม้ Kitty Live จะพยายามลบภาพลักษณ์ 18+ ของบริการ Live Streaming รูปแบบนี้ไปอย่างไร แต่ Perception ของผู้บริโภคก็ยังจดจำภาพเหล่านี้ไว้เสมอ และเมื่อทีมงานเข้าไปตรวจสอบดู ก็ยังพบ Content วับๆ แวมๆ อยู่เหมือนในอดีต Broadcaster ก็คงอ้อนวอนทุกอย่างเพื่อให้ผู้ใช้ส่ง Ruby เช่นเดิม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา