Rebranding ตั้งแต่ Logo ยันหูหนีบ เพราะ Kito ไม่ได้เท่ที่เท้า แต่ใส่แล้วต้องเท่ทุกคน

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปทุกวัน จนกระทบไปถึงผู้ผลิต และจำหน่ายรองเท้าแตะอย่าง Kito ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ผ่านการ Rebranding และดึงรุ่นสองขึ้นมามีบทบาทในการบริหารธุรกิจ

รองเท้าแตะ Kito รุ่นใหม่ที่เปลี่ยนทั้งดีไซน์ และ Logo แบรนด์

30 ปีกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

Kito เป็นแบรนด์รองเท้าแตะที่อยู่คู่คนไทยมานานถึง 30 ปี พร้อมกับสโลแกน Kito เท่ที่เท้า ที่หลายคนน่าจะจำกันได้ แต่การดำเนินธุรกิจแบบเดิมคงไม่สามารถสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมรองเท้าลำลองที่มีมูลค่าสูงถึง 6,200 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปะละ 5% ทำให้ครอบครัว กิจกำจาย เจ้าของผู้ผลิต และจำหน่ายรองเท้าแตะแบรนด์นี้จึงเริ่มลดบทบาทตัวเองลง และส่งทายาทรุ่นที่สองที่ประกอบด้วยลูกขาย 3 คนเข้ามาดูแลธุรกิจนี้มากขึ้นตั้งแต่ 3 ปีก่อน และเมื่อตกผลึกในการทำธุรกิจแล้ว พวกเขาก็เริ่มต้นแผนสำคัญคือการ Rebranding

พิศาล กิจกำจาย ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท กิโต้ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในทายาทรุ่นที่ 2 ของ Kito เล่าให้ฟังว่า Kito เป็นแบรนด์รองเท้าที่เข้ากับทุกเพศทุกวัย ผ่านความหลากหลายของสินค้า และดีไซน์ที่สามารถสวมใส่ได้ตลอดเวลา พร้อมจุดเด่นเรื่องการผลิตแบบ Handmade ถึง 80% ของขั้นตอนทั้งหมด จนปัจจุบันบริษัทสามารถมีส่วนแบ่งในตลาดรองเท้าลำลองที่ 25% และอยู่ในกลุ่มผู้นำสามอันดับแรกของอุตสาหกรรมนี้ แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ถ้าบริษัทไม่ปรับตัวก็คงจะเติบโตได้ยาก

พิศาล กิจกำจาย ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท กิโต้ (ประเทศไทย) จำกัด

“Kito ใช้เวลากว่า 1 ปีเพื่อ Rebranding ธุรกิจ ไล่ตั้งแต่ Logo จนไปถึงดีไซน์ของสินค้า และรูปแบบการทำตลาด เพราะมองว่า Functional Benefit มันตอบโจทย์ผู้ซื้อไม่ได้แล้ว โดย Emotional Benefit เช่นใส่แล้วเท่ หรือใส่แล้วมีสไตล์จะเข้ามามีอิทธิพลกับผู้ซื้อมากกว่า ดังนั้นแนวคิดในการออกแบบหลังจากนี้จะเปลี่ยนเป็น เท่สร้างได้ หรือใส่แล้วทุกคนต้องเท่ขึ้น ที่สำคัญตอนนี้รองเท้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของ Lifestyle เหมือนการซื้อเสื้อผ้า โดยเราจะออกโปรดักต์ใหม่ทั้งรองเท้าแตะ และผ้าใบ 3-5 รุ่นทุกเดือน”

จัดระเบียบการขาย มุ่งสู่ออนไลน์เต็มตัว

สำหรับการ Rebranding ครั้งนี้ Kito ได้ใช้งบประมาณไปราว 50 ล้านบาท ประกอบด้วยการเปลี่ยน Logo, การทำตลาด รวมถึงการออกแบบสินค้า และการปรับช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ช่องทางออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น หลังจากที่บริษัทเน้นจำหน่ายช่องทางทั่วไป หรือกลุ่มยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว กว่า 50% ของยอดขาย รองลงมาเป็นฝั่งโมเดิร์นเทรด และดีพาร์ทเมนต์สโตร์ 25% กับส่งออกต่างประเทศ 25% ซึ่งสัดส่วนของออนไลน์นั้นจะเข้ามาทดแทนยี่ปั๊ว-ซาปั๊วจำนวนหนึ่ง ผ่านการจัดแคมเปญบนโลกออนไลน์ทุก 3 เดือน และจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์หลัก

Logo แบบเก่าด้านซ้าย และ Logo แบบใหม่ด้านขวา

อย่างไรก็ตามการ Rebranding ครั้งนี้บริษัทยังเปลี่ยนเป้าหมายจากเน้นจำหน่ายบุคคลทั่วไป กลายเป็นเจาะกลุ่มอายุ 20-30 ปีมากขึ้น เพราะมองว่ากลุ่มนี้มองเรื่อง Lifestyle และต้องการดูดีตลอดเวลา ซึ่งตรงกับแนวคิดใหม่ของแบรนด์ ที่สำคัญคนกลุ่ม 20-30 ปี ยังเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ที่เคยสวมใส่รองเท้า Kito อยู่แล้ว ให้ยังเชื่อมมั่นในความเท่ของ Kito เหมือนเดิม และจุดนี้เองน่าจะช่วยสร้างยอดขายบริษัทในปีนี้ให้เติบโตราว 15% จากปีก่อน และขึ้นมามีส่วนแบ่งในตลาดรองเท้าลำลองถึง 30%

รองเท้าผ้าใบคือแผนใหม่ในการสร้างธุรกิจ

ส่วนสินค้าที่ Kito จำหน่ายนั้นจะมาจากรองเท้าแตะ 80-85% ที่เหลือเป็นกลุ่มรองเท้าผ้าใบ แต่หลังจากนี้จะเน้นพัฒนาสินค้ารองเท้าผ้าใบมากขึ้น โดยหลังจากนี้อีก 1-2 ปี ความชัดเจนของธุรกิจรองเท้าผ้าใบจะมากกว่าเดิม เพราะรองเท้าผ้าใบเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเยอะ และหากบริษัทสามารถดีไซน์สินค้าได้ตรงใจ พร้อมราคาที่เข้าถึงได้ โอกาสการเติบโตของธุรกิจก็มีมากขึ้น ผ่านการขายได้ทุกฤดูกาล ไม่ต้องรอหน้าร้อน โดยตั้งเป้ามีรายได้จากธุรกิจรองเท้าผ้าใบเป็น 30-40% ของรายได้ให้เร็วที่สุด

สรุป

ไม่รู้ว่าจริงแค่ไหน เพราะทางผู้บริหารรุ่นใหม่บอกว่าคนไทยซื้อรองเท้าแตะแค่ 0.7 คู่/คน/ปี น้อยกว่าสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นที่ซื้อปีละ 4 กับ 7 คู่ตามลำดับ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นโอกาสในอุตสาหกรรมรองเท้าแตะก็น่าจะเติบโตได้อีกเป็นเท่าตัวแน่ และการ Rebranding ของ Kito ก็น่าจะขี่คลื่นการเติบโตนี้ได้เช่นเดียวกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา