ย่ำอยู่กับที่ไม่ได้! Kirin ตัดสินใจรุกอาหาร-เครื่องดื่มสุขภาพ หลังตลาดเบียร์ในญี่ปุ่นหดตัว

เป็นปัญหาที่ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลกต้องเจอ หลังจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น แถมผู้บริโภคก็ใส่ใจสุขภาพยิ่งกว่าเดิม จึงไม่แปลกที่คนทำธุรกิจนี้จะย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ ล่าสุดคือ Kirin เบอร์ 2 ในตลาดเบียร์ที่ญี่ปุ่นที่ต้องปรับใหญ่

Kirin Ichiban เบอร์ 2 ของตลาดเบียร์ที่ญี่ปุ่น

ตลาดเบียร์หดตัว 13 ปีซ้อน ทำทุกเจ้าลำบาก

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่ากลุ่ม Kirin เป็นเบอร์ 2 ของตลาดเบียร์ญี่ปุ่นตามที่กล่าวไว้ข้างต้น และมีผลกำไรกว่า 40% มาจากการจำหน่ายเบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ในประเทศ แต่ด้วยสิ้นปี 2560 ถือเป็นปีที่ 13 แล้วที่การบริโภคเบียร์ในประเทศนั้นหดตัว จึงไม่แปลกที่ Kirin และคู่แข่งในตลาดต้องหาทางออกเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน

Yoshinori Isozaki ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่ม Kirin ยอมรับว่า ในความเป็นจริงไม่ได้อยากทำธุรกิจที่ออกไปจากเบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากนัก เพราะเป็นสินค้าที่บริษัทเข้าใจมากที่สุด แต่คงทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะถ้าเดินหน้าธุรกิจแค่ด้านเดียว โอากาสการเติบโตในระยะยาวก็ค่อนข้างยาก

“เราต้องหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มผลกไรที่น่าจะลดลงเรื่อยๆ หลังการบริโภคเบียร์ในญี่ปุ่นลดลงทุกวัน ซึ่งตอนแรกเราจะเข้าไปซื้อกิจการเบียร์เบอร์หนึ่งของเวียดนามอย่าง Saigon Beer Alcohol Beverage (Sabeco) เพื่อรุกตลาดต่างประเทศ แต่ด้วยราคาที่สูงจนเกินไป ทำให้เราถอยออกมา และมาทำอะไรขึ้นเองแทน”

สังคมผู้สูงอายุ และเครื่องดื่มสุขภาพเป็นของคู่กัน // ภาพ pakutaso.com

อาหาร-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพคือตัวเลือกแรกๆ

สำหรับการซื้อกิจการ Sabeco นั้นสุดท้าย “ไทยเบฟเวอร์เรจ” เป็นผู้ปิดดีลไปด้วยมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท นอกจากนี้การลงทุนในต่างประเทศยังมีกลุ่ม Asahi ของญี่ปุ่นที่ทุ่มเงินกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.4 แสนล้านบาท) ในเวลา 2 ปี เพื่อบุกตลาดต่างประเทศด้วยการซื้อกิจการเบียร์ทั่วยุโรปจาก Anheuser-Busch InBev

ดังนั้นเมื่อไม่ยอมบุกต่างประเทศ Kirin จึงเลือกวิธีทำตลาดสินค้าใหม่ โดยเริ่มต้นที่กลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะต้องการทำอะไรที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค และอยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีการเจริญเติบโตสูง ซึ่งก่อนหน้านี้ Kirin ก็เคยทำตลาดเบียร์ที่มีแคลอรี่ต่ำ ซึ่งก็ได้ผลตอบรับค่อนข้างดีมาแล้ว

โดยในช่วงแรกเบอร์ 2 ของตลาดเบียร์ที่ญี่ปุ่นจะวางจำหน่ายตัวสินค้าเครื่องดื่มที่มี Pro-Biotic, โยเกิร์ต และอาหารเสริม พร้อมกับมีแผนซื้อกิจการอื่นๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร และเครื่องดื่มสุขภาพเช่นกัน แต่ต้องดูเรื่องความเหมาะสม ทั้งมูลค่า และระยะเวลาในการช่วยเหลือธุรกิจให้เติบโตด้วย

สรุป

ถือเป็นช่วงเวลาที่ลำบากของเบอร์ใหญ่ๆ ในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะตลาดนี้มันเติบโตลำบาก และต้องทำสินค้ากลุ่ม Non-Alcohol เข้ามาช่วยให้มันเติบโตมากขึ้น เช่นกันกับตลาดไทยที่สิงห์ และไทยเบฟฯ ต่างก็ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างให้มีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ ตามที่เห็นๆ กัน

อ้างอิง // Japan Today

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา