ในช่วงชีวิตวัยทำงาน หลายคนเติบโตมาเป็นพนักงานที่แข็งแกร่ง หลายคนมายืนในจุดที่ไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึง บางคนยังมองหาทางที่ใช่ บางคนยังสนุกกับการลองอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ความหลากหลายของหนทางเป็นประสบการณ์หลายหน้ากระดาษที่ต่างคนต่างมีเป็นของตัวเอง แต่กว่าจะเดินมาถึงจุดที่ยืนในปัจจุบัน มองย้อนกลับไป เราผ่านอะไรกันมาบ้างนะ?
งานพลาดครั้งแรก คำตำหนิติเตียนที่เสียดแทงใจ เก็บงานไปเครียดจนนอนไม่หลับ แอบร้องไห้ในห้องน้ำ บางคนแข็งแกร่งดั่งไฮดร้า ยิ่งฆ่ายิ่งไม่ตาย บางคนแหลกสลายไม่มีชิ้นดี ต้องประกอบตัวเองขึ้นจากชิ้นส่วนเหล่านั้นเพื่อเดินหน้าต่อในวันต่อไป
เพราะเราอาจไม่ได้เข้มแข็งได้ในทุกวัน และทุกคนนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด ลองโอบรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง ซ่อมแซมรอยร้าวด้วย Kintsugi ศาสตร์แห่งการโอบรับตัวเองในวันแหลกสลาย
เดิมที Kintsugi เป็นวิธีการซ่อมแซมแบบเก่าแก่ของญี่ปุ่น ด้วยการเชื่อมถ้วยชามเซรามิกที่แตกออกจากกันด้วยทอง จึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับแนวคิดในการใช้ชีวิต ให้รู้จักยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบในชีวิตของเรา และประกอบมันขึ้นมาใหม่ด้วยสิ่งที่ดีกว่าอย่างทอง สอดคล้องกับแนวคิด wabi-sabi การมองเห็นถึงความสวยงามของความไม่สมบูรณ์แบบ
หากมองรอยร้าวเหมือนดั่งแผลเป็น หลายคนอาจเลือกซ่อนร่องรอยนี้ไว้ให้ลึกที่สุด แต่หากนำเอา Kintsugi มาใช้ แต่งแต้มมันด้วยทอง รอยร้าวจะกลายเป็นลวดลายใหม่ที่เผยถึงความยากที่เราเคยผ่านมาได้ และกลับมาสมานอีกครั้งด้วยความสง่างาม
ลองนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับการทำงานได้ไม่ว่าเราจะเป็นพนักงานธรรมดาหรือเป็นหัวหน้าก็ตาม เราสามารถใช้โอกาสจากความผิดพลาดให้กลายเป็น แสดงฝีมือการแก้ปัญหา พลาดแล้วไม่พลาดเลย หรือยอมรับความแตกต่างของความสามารถของแต่ละคน ที่ต่างมีจุดเด่นเป็นของตัวเอง ส่วนจุดด้อยนั้นก็สามารถพัฒนากันต่อไปได้ ไม่ใช่ประตูปิดตายที่หากไม่เก่งเรื่องนี้แล้วจะไม่มีวันเก่งขึ้นได้อีกเลย
หากแนวคิดนี้ถูกนำมาปรับใช้ในองค์กร อาจช่วยช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่ได้เป็นตัวของตัวเอง ทำผิดพลาด และเรียนรู้จากพวกเขา ด้วยการหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตและการปรับปรุงตัวเอง พวกเขาจะมีส่วนร่วมมากขึ้นและมีแรงจูงใจที่จะทุ่มเทให้กับงาน
อย่าปล่อยให้นิยามของคำว่าสมบูรณ์แบบ ที่ต่างคนต่างมีนิยามในใจ มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน มาตีกรอบให้เรารู้สึกว่าต้องเดินไปตามไม้บรรทัดของผู้อื่น เพราะมนุษย์เราไม่ใช่สินค้าบนสายพานโรงงาน ที่ต้องออกมาดีเหมือนกันทุกชิ้น ทำหน้าที่เหมือนกันทุกชิ้น ใช้ไม้บรรรทัดเดียวเทียบเอาคุณสมบัติทั้งหมดที่มี แต่ละคนต่างมีความถนัด ความชอบ รวมถึงจุดอ่อน เรื่องที่ยังไม่เก่ง ได้เหมือน ๆ กัน ดังนั้น ควรมองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ มีรอยร้าวที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่สิ่งที่ทำให้ต่างกัน คือ การโอบรับรอยร้าวของตัวเองและซ่อมแซมมันให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง
สุดท้ายแล้ว การหยิบเอา Kintsugi มาใช้ในองค์กร ไม่ได้เป็นเพียงไม้นวมที่บอกว่า ฉันกำลังใจดีกับเธออยู่นะ แต่เป็นการทำความเข้าใจและมองพนักงานด้วยความเป็นมนุษย์ โอบรับความไม่สมบูรณ์แบบ ส่งเสริมการเติบโต ชื่นชมความสามารถของแต่ละคน ตลอดจนหล่อเลี้ยงความยืดหยุ่น จนสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานรู้สึกมีค่า มีส่วนร่วม และได้รับพลังในการส่งมอบงานที่ดีที่สุดของตนได้
อ้างอิง
The Art Of Kintsugi And Lessons In Leadership (forbes.com)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา