ยักษ์ซอฟต์แวร์จีนบุกไทย Kingsoft เร่งจับมือภาครัฐขยายการใช้งาน ทั้งเตรียมบริการคลาวด์ตอบโจทย์

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์กรธุรกิจในจีนนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตอนนี้ก็ถึงเวลาของธุรกิจซอฟต์แวร์บ้าง เพราะยักษ์ใหญ่อย่าง Kingsoft ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ที่มีผู้ใช้ในจีนมากกว่า 90% กำลังบุกประเทศไทยแล้ว

ตั้งพาร์เนอร์เร่งจับมือหน่วยงานรัฐ

การเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยของ Kingsoft จะไม่ได้ทำเองเต็มตัว เพราะแต่งตั้ง บริษัท ไทย ดับเบิ้ลยูพีเอส จำกัด ที่จดทะเบียนร่วมกันระหว่างไทยกับจีน เป็นตัวแทนจำหน่าย และที่ปรึกษาการออกแบบซอฟต์แวร์ในไทย เป้าหมายแรกของการเข้ามาคือกลุ่มหน่วยงานรัฐ เพราะสามารถขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยโครงการนี้เริ่มพัฒนามา 1 ปีครึ่ง

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาทำตลาดก่อนคือ WPS Office หรือซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์การทำ Word Processor, Presentation และ Spreadsheet ที่ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐ และธุรกิจเกี่ยวกับการเงินใช้งานกว่า 80% ของหน่วยงานดังกล่าวในประเทศจีน ซึ่งการทำตลาดในประเทศไทยนั้น ได้มีการ Localize ทั้งภาษา และรูปแบบการใช้งาน

WPS Office มีขนาดซอฟต์แวร์ไม่ถึง 100 MB ทำให้ไม่กินสเปกเครื่อง และรองรับการทำงานของไฟล์ และระบบปฏิบัติการได้หลายรูปแบบ

เกอะ เคอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WPS Office เล่าให้ฟังว่า หลังจากให้บริการในจีนมาเกือบ 30 ปี และตัวซอฟต์แวร์ถูกติดตั้งมากกว่า 1,000 ล้านเครื่อง ก็ถึงเวลาที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เนื่องจากที่นี่กำลังเดินหน้านโยบาย Thailand 4.0 และการจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม และลดการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ก็น่าจะเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญ

จ่าย 5,000 มีทอน แถมตลอดชีพ

สำหรับการเทำตลาดในประเทศไทยนั้น นอกจากจะร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ WPS Office ให้ใช้งานในหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ ยังเตรียมทำตลาดในระดับองค์กร ผ่านการจำหน่ายในราคา 4,990 บาท ในช่วง 3 เดือนจากนี้ และจะปรับขึ้นเป็น 5,250 บาทเมื่อระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุด โดยราคานี้คือแพ็คเกจแบบตลอดชีพ ไม่ใช่การเช่าใช้รายปี

ขณะเดียวกันยังเตรียมจำหน่าย WPS Office สำหรับผู้ใช้ทั่วไป โดยมีราคาถูกกว่าที่ทำตลาดกับองค์กร แต่จะตัดบาง Feature ออกไป และยังเตรียมออกแบบ WPS Office ให้สถาบันการศึกษาใช้ฟรี ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้แนวคิดราคาเข้าถึงได้, บริการที่เข้ากับผู้บริโภค และทั้งหมดสามารถเชื่อมต่อกันด้วยคลาวด์ (อยู่ระหว่างการตัดสินใจนำเข้ามาให้บริการ)

ห่วงโตเร็ว จนต้องหาทีมงานเพิ่ม

“ความท้าทายในการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยคือการบริการลูกค้า เพราะช่วงแรกยอมรับว่ายังไม่ได้ลงทุนมาก แต่หากการเจรจากับรัฐเรียบร้อย หรือราคาเอื้อมถึงทำยอดผู้ใช้เพิ่มอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เราต้องเพิ่มทีมงาน และดีกรีการทำตลาด รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น WPS Mail กับ WPS+ ที่เป็นบริการคลาวด์มาให้บริการ”

สรุป

การเข้ามาให้บริการของ Kingsoft แสดงให้เห็นถึงโอกาสในธุรกิจซอฟต์แวร์ของประเทศไทยที่ยังเปิดกว้าง แต่การเข้ามาครั้งนี้ก็อาจสร้างความหนักใจให้กับ Software House ท้องถิ่นกันบ้าง เพราะไม่รู้ว่าหลังจากนี้ยักษ์ใหญ่จากจีนจะเอาอะไรเข้ามาอีก และเชื่อว่าผู้เล่นรายย่อยยังไม่ได้ปรับตัวรับกับการที่ต่างชาติเข้ามาทำตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้จีนถือเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก และมีมูลค่าซื้อขายระหว่างไทยกับจีนที่ 65,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นถึงความเป็นเพื่อน และพาร์ทเนอร์การลงทุนในประเทศไทยที่สำคัญ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา