ไม่ใช่แค่ซื้อทีมฟุตบอล KING POWER ใช้กลยุทธ์ Sport Marketing พร้อม CSR แบบครบวงจร

การซื้อทีมสโมสรฟุตบอล Leicester City ของ KING POWER เป็นทั้งการลงทุน และกลยุทธ์ Sport Marketing ที่ช่วยสร้างชื่อในธุรกิจ Duty Free ให้กับ KING POWER และปัจจุบันกลายเป็น CSR แบบครบวงจร เป็นการเดินหมากธุรกิจของ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา CEO ของกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ตามโครงการ KING POWER THAI POWER ที่น่าติดตาม

ลงทุนสโมสรฟุตบอล สร้างแบรนด์ KING POWER

จากข่าวล่าสุดการเข้าซื้อสโมสรฟุตบอล OH Leuven ในลีกระดับรองของประเทศเบลเยียม เป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของการทำ Sport Marketing และ CSR เมื่อรวมถึงความร่วมมือกับอีกหลายทีมสโมสรฟุตบอลในไทย ทำให้เห็นความสมบูรณ์มากขึ้น

อัยยวัฒน์ บอกว่า การทำธุรกิจ Duty Free ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักคือ คนต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นคนจีน 40% คนยุโรป 15% คนอาเซียน 15% และคนไทยอีกประมาณ 15% ดังนั้นการสร้างแบรนด์ KING POWER ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกเป็นส่วนำสำคัญ

นั่นคือ สิ่งที่ Leicester City มีผลต่อการสร้างแบรนด์ของ KING POWER รวมถึง OH Leuven ที่ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา CEO ของกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์

เริ่มต้นโครงการกีฬา สร้างฝันอาชีพแบบสมบูรณ์ไม่ทิ้งกัน

สิ่งที่หลายคนอยากเห็นคือ KING POWER สนับสนุนให้เด็กไทยที่มีความสามารถด้านฟุตบอล ได้ไปฝึกอบรมและเซ็นสัญญาเป็นนักเตะอาชีพที่ Leicester City ซึ่งที่ผ่านมีการส่งเด็กไทยที่ผ่านการคัดเลือกไปหลายคน ในโครงการ FOX HUNT ตามล่าจิ้งจอกสายพันธุ์สยาม, Leicester City Football Clinic ฯลฯ แต่ต้องบอกว่า การจะเซ็นสัญญาเป็นนักเตะเยาวชน และนักเตะอาชีพต่อไป ขึ้นกับการตัดสินใจของทีมงาน

“ไม่มีเด็กเส้น ต้องอาศัยความสามารถอย่างแท้จริง ซึ่งมีเด็กไทยหลายคนที่ได้รับความสนใจจากแมวมอง แต่อุปสรรคอีกอย่างคือ การขอ Work Permit หรือใบอนุญาตทำงานที่นั่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อขอ Work Permit ไม่ผ่านก็ต้องกลับมา”

KING POWER มองเห็นจุดนี้ว่า โครงการไม่ควรส่งเด็กไทยไป พอกลับมาก็จบ แต่อยากสร้างเส้นทางอาชีพที่สมบูรณ์ไม่ทิ้งกัน ดังนั้นจึงมีสโมสรฟุตบอลอื่นๆ รองรับ รวมถึง OH Leuven ที่เบลเยียม และอีกหลายสโมสรในไทย เช่น โปลิส เทโร, พัทยา ยูไนเต็ด, บางกอกกล๊าส เอฟซี โดยเป็นทีมระดับกลาง เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กมีโอกาสเบียดขึ้นไปเล่นตัวจริง

ส่วนโครงการ KING POWER THAI POWER จะย้อนกลับมาส่งเสริมด้านฟุตบอลให้กับเด็กไทยในระดับภูมิภาคทั่วประเทศ โดยสร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียมมาตรฐานสากล ตั้งเป้าปี 2560 จำนวน 20 โรงเรียน และให้ครบ 100 โรงเรียนในปี 2565 พ้รอมลูกฟุตบอล 1 ล้านลูก

ขายสินค้าพื้นบ้านไทย ต้องสร้างชื่อแบรนด์ไทย

อีกส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกันคือ KING POWER เป็น Duty Free ของคนไทย ดังนั้นสินค้าพื้นบ้านของไทยในแต่ละท้องถิ่น จะมีจำหน่ายใน KING POWER ด้วย โดยมี 5 ประเภท คือ อาหาร, เวชภัณฑ์สมุนไพร, แฟชั่น, หัตถกรรม และเครื่องนุ่งห่ม

ทั้งหมดได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศค่อนข้างสูง และเป็นสัดส่วนรายได้ให้กับ KING POWER ประมาณ 15% ถือว่าไม่น้อย ดังนั้น KING POWER จะเน้นโปรโมทความเป็นไทย และท้องถิ่นที่กำหนดสินค้านั้นๆ ลงไปด้วย

ในการรีโนเวทปรับปรุงพื้นที่ KING POWER ซอยรางน้ำใหม่ จะมีการจัดพื้นที่สำหรับสินค้าพื้นบ้านไทยโดยเฉพาะ และมีการสร้าง story ของสินค้าแต่ละตัวด้วย

สรุป

KING POWER ทำธุรกิจ Duty Free มา 28 ปีจากรุ่นแรก สู่รุ่นที่สอง อัยยวัฒน์ บอกว่าสิ่งที่ยากไม่ใช่การสานต่อ แต่ต้องสานต่อให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนด้านเทคโนโลยีค่อนข้างมาก และต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับการเข้าประมูลทำ Duty Free ของการท่าอากาศยาน แต่ก็ต้องเดินหน้า CSR เรื่องกีฬาฟุตบอลไปด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา