จาก ‘แม่บ้าน’ สู่ ‘นักธุรกิจหมื่นล้าน’ เปิดเบื้องหลัง Samyang บะหมี่เกาหลีรสเผ็ดขวัญใจทั่วโลก

ชวนทำความรู้จัก ‘Kim Jung-soo’ จากแม่บ้านผู้ดูแลสามีและลูก สู่ผู้พลิกฟื้นคืนชีพธุรกิจที่ใครๆ ก็รู้จักอย่าง ‘Samyang’

Samyang

Samyang คือรามยอนเกาหลี ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความเผ็ด แถมยังเป็นไวรัลทั่วโลก เมื่ออินฟลูเอนเซอร์หลายๆ คนพากันมาทำชาเลนจ์ทานเมนูนี้ ถึงขั้นที่ว่าซุปเปอร์สตาร์ตัวแม่อย่าง ‘Cardi B’ ต้องขับรถไป 30 นาทีเพื่อซื้อมาลอง

ถ้าคุณยังไม่เข้าใจว่ามันเผ็ดขนาดไหน คำตอบคือขนาดที่ว่า ‘เดนมาร์ก’ เคยสั่งเรียกคืนสินค้า เนื่องจากเผ็ดเกินไปสำหรับคนในประเทศ

แม้มันจะเผ็ดมากๆ แต่ยอดขายก็ดีมากๆ เช่นกัน โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 Samyang สร้างรายได้ให้บริษัทกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2023 ประมาณ 44.2% 

ที่น่าสนใจสุดๆ คือ 75% ของรายได้ก้อนนี้ มาจากการส่งออกไปขายนอกประเทศเกาหลีใต้

ลูกสะใภ้พลิกกิจการครอบครัว

buldak

ถ้าต้องเล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในปี 1998 เมื่อ Kim แม่บ้านชาวเกาหลีธรรมดาๆ ถูกพ่อตาขอให้มาช่วยบริหารกิจการ Samyang Food ที่ ณ ตอนนั้นกำลังระส่ำระสายอย่างหนัก

ในปี 2011 Kim เกิดไอเดียผลิต ‘บะหมี่บูลดัก’ (Buldak) ขึ้นมา โดยบูลดักนั้นหมายถึง ‘ไก่เผ็ด’ ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจจากการเห็นคนจำนวนไม่น้อยชอบทานไก่ทอดเผ็ดๆ โดยไม่แคร์ว่ามันทำให้พวกเขาแสบร้อนจนเหงื่อแตกแค่ไหน

จากการทดลองเมนูครั้งแรก Kim ใช้ไก่ไปประมาณ 1,200 ตัว พร้อมซอสอีกราวๆ 2 ตัน โดยที่ลึกๆ ในใจก็แอบกังวลว่ามันจะเผ็ดไปหรือเปล่า

แน่นอนว่ามันไม่เผ็ดเกินไปหรอก เพราะหลังๆ มานี้บะหมี่บูลดักของ Samyang กลายเป็นที่นิยมมาก จนซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในสหรัฐฯ อย่าง Walmart และ Costco สต็อกของเข้าชั้นวางไม่ทันเลยด้วยซ้ำ

สิ่งที่น่าสนใจคือ การที่ผู้ชายเกาหลียุคเก่าอย่างคุณพ่อตาเลือก Kim มาช่วยบริหาร ถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจไม่น้อย เพราะเขามีตัวเลือกเป็นสมาชิกครอบครัวเพศชายคนอื่นๆ อีกเยอะแยะ แต่ทำไมถึงอยากได้ผู้หญิงที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการจัดการมาก่อน

แม้เราจะไม่รู้ว่าอะไรดลใจให้คุณพ่อตาเลือก Kim แต่ก็พูดได้เลยว่า เขาคิดถูกแล้วจริงๆ

ยืนหนึ่ง กำไรสูงกว่าคู่แข่งทั่วตลาด

เมื่อมาดูผลประกอบในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 จะพบว่า Samyang Food มีกำไรสูงกว่าคู่แข่งเจ้าใหญ่คนอื่นๆ ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้อย่าง Nongshim และ Ottogi โดยรายละเอียดคือ

  • Samyang Food ทำกำไรได้ 2 พันล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 101%
  • Ottogi ทำกำไรได้ 1.5 พันล้านบาท น้อยกว่าปีที่แล้ว 23.4%
  • Nongshim ทำกำไรได้ 885 ล้านบาท น้อยกว่าปีที่แล้ว 32.5%

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Samyang กลายเป็นผู้นำตลาดได้คือยอดขายต่างประเทศ โดยหลักๆ แล้วมาจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์ 

ในทางกลับกัน Nongshim และ Ottogi มุ่งเน้นการตีตลาดในประเทศ ซึ่งแม้จะทำได้ดีมาต่อเนื่อง แต่ในไตรมาสที่ 3 นี้ ด้วยต้นทุนและราคาข้าวของต่างๆ พากันแพงขึ้น คนเกาหลีใต้จึงจับจ่ายใช้สอยน้อยลง จนกำไรของทั้งสองบริษัทลดตาม

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ในตอนแรกที่บูลดักของ Samyang ได้รับความนิยมขึ้นมา ใครๆ ก็มองว่ามันเป็นแค่กระแสชั่วคราวเท่านั้น แต่ปัจจุบัน เมื่อสินค้าสามารถส่งต่อคุณค่าและประสบการณ์สนุกๆ ให้กับผู้บริโภค แบรนด์นี้คงจะเติบโตไปอีกนานในตลาดโลก

ที่มา: Bloomberg / Utoppa / The Korea Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา