คุยกับ “วีระรัตน์ กิจเลิศไพโรจน์” ผู้อาสาพัฒนาตลาดการ์ดเกมในไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ย้อนไปเกือบ 20 ปีก่อน ตลาดการ์ดเกมในประเทศไทยบูมเอามากๆ เพราะเด็กสมัยนั้นยอมจ่ายเงินเพื่อไปซื้อการ์ดยูกิ หรืออื่นๆ มาเล่น แต่พอเกมออนไลน์มากระแสนี้ก็หายไป และล่าสุดเหมือนว่าการ์ดเกมกำลังกลับมาบูมอีกครั้ง

การ์ดยูกิ

ตลาดการ์ดเกมในไทยที่นิ่งมานาน

หากเคยเดินเล่นพื้นที่ค้าขายสินค้าภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่สุขุมวิท หรือจตุจักร ก็มักจะเห็นกลุ่มคนเล่นการ์ดเกมตามร้านขายการ์ดระแวกนั้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากย้อนไป 4-5 ปีก่อน จำนวนคน และร้านการ์ดนั้นไม่มีมากขนาดนี้ และการที่ตลาดการ์ดเกมกลับมาคึกคักอาจมาจากตัวแทนจำหน่ายเริ่มเอาจริงกับการทำตลาดมากขึ้น

วีระรัตน์ กิจเลิศไพโรจน์ กรรมการ และผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท คิดซ์ แอนด์ คิทซ์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายการ์ดเกม Yu-Gi-Oh!, Cardfight!! Vanguard และ Future Card Buddyfight เล่าให้ฟังว่า เกมออนไลน์ และโมบายเกมคือตัวแปรที่ทำให้ตลาดการ์ดเกมในไทยเงียบ แต่ตอนนี้เหมือนตลาดการ์ดเกมตั้งหลักได้ และเริ่มขยายตัว

คิดซ์ แอนด์ คิทซ์
วีระรัตน์ กิจเลิศไพโรจน์ กรรมการ และผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท คิดซ์ แอนด์ คิทซ์ จำกัด

“เมื่อ 20 ปีก่อนตลาดการ์ดเกมคึกคัก แต่พอเกมออนไลน์เข้ามาตลาดการ์ดเกมก็เงียบ จนเมื่อ 10 ปีก่อนก็เหมือนฟื้นตัวมาอีกครั้ง แต่ 5 ปีถัดมาก็โดนโมบายเกมตีให้ตกลงไปอีก เราเข้ามาในตลาดการ์ดเกมเมื่อปีพ.ศ.2550 และผ่านช่วงตกต่ำของตลาดการ์ดเกมมาแล้ว จนถึงตอนนี้ผมมั่นใจว่าตลาดการ์ดเกมเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง”

ผู้เล่นการ์ดเกมกว่า 5 แสนคน ร้านขายการ์ด 200 ร้าน

ถึงจะกลับมาคึกคัก แต่ “วีระรัตน์” ก็เชื่อว่าในประเทศไทยมีผู้เล่นการ์ดเกมเพียง 5 แสน และร้านขายการ์ดราว 200 ร้าน ซึ่งจำนวนนี้แม้จะน้อย แต่เติบโตจากช่วง 10 ปีก่อนที่มีร้านขายการ์ดหลักสิบร้าน ส่วนจำนวนผู้เล่นก็ยังไม่มากขนาดนี้

การ์ดยูกิ

“ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้มันไม่ใช่ยุคของ Tabletop Game ทำให้ตลาดการ์ดเกมมันเติบโตลำบากทั้งในไทย และระดับโลก จนเจ้าของการ์ดเกมเช่น Konami, Bushiroad และ Bandai ก็ไม่ค่อยเปิดตัวการ์ดเกมใหม่ ดังนั้นเราต้องพยายามรักษาฐานผู้เล่นหน้าเก่าไว้ให้ได้ และสร้างความเข้าใจกับเด็กรุ่นใหม่ว่า Tabletop Game มันยังสนุกอยู่”

สำหรับตัวแทนจำหน่ายการ์ดเกมในประเทศไทย “คิดซ์ แอนด์ คิทซ์” เป็นผู้นำในตลาดนี้ ผ่านจำนวนการ์ดเกมที่ถือไว้มากที่สุด ส่วนผู้เล่นรายอื่นในประเทศไทยมีกลุ่มทรูที่ถือลิขสิทธิ์ Pokémon Trading Card Game และ Hasbro ประเทศไทยที่ถือลิขสิทธิ์ Magic: The Gathering

การ์ดแวนการ์ด

Yu-Gi-Oh! กับความเป็น 3 อันดับแรกของการ์ดเกม

“เราเพิ่งได้สิทธิ์ทำตลาด Yu-Gi-Oh! ในประเทศไทยเมื่อเดือนก.ค 2562 ซึ่งตัว Yu-Gi-Oh! คือการ์ดเกม 1 ใน 3 ที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก ดังนั้นการได้การ์ดเกมตัวนี้มาทำให้สร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจการ์ดเกมของเราได้มาก และจะใช้กลยุทธ์การทำตลาดคล้ายกับที่เราเคยประสบความสำเร็จในการทำตลาดการ์ดเกมมาก่อนหน้านี้”

อย่างแรกที่ “คิดซ์ แอนด์ คิทซ์” ทำหลังจากได้สิทธิ์ทำตลาด Yu-Gi-Oh! คือการปรับราคาลงมาให้ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นมากที่สุด พร้อมกับสนับสนุนกลุ่ม Casual Player หรือผู้เล่นที่เล่นเพื่อสนุก มากกว่าไปมุ่งกลุ่ม Competitive Player หรือผู้เล่นที่เน้นเข้าแข่งขันเพียงอย่างเดียว เพื่อสร้างสังคมที่ดี เพราะ Community คือเรื่องสำคัญ

การ์ดยูกิ

“การ์ดเกมเป็นจะเติบโตได้ลำบากหาก Community ไม่ดี เพราะผู้เล่นหน้าใหม่จะเกิดขึ้นยาก และตลาดจะหมุนเวียนแค่กลุ่มหน้าเดิมๆ ยิ่งการ์ดเกมมัน Social Interactive หรือเป็นเกมที่ผู้เล่นต้องมาเจอหน้ากันจริงๆ ไม่เหมือนเกมออนไลน์ หรือเกมมือถือ ถ้าไปเจอคนเก่งๆ หรือคนนิสัยไม่ดีกดดัน มันก็ไม่เอื้อต่อมือใหม่แน่นอน”

เปิดกลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจการ์ดเกม

การที่ “คิดซ์ แอนด์ คิทซ์” ยังเป็นผู้ทำตลาดการ์ดเกมที่แข็งแกร่งกว่า 10 ปี เพราะมี 5 กลยุทธ์สำคัญคือ

  1. ซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนที่เกี่ยวกับการ์ดเกมมาแพร่ภาพในช่องทางต่างๆ เพราะการ์ตูนคือ Trigger สำคัญในการดึงดูดความสนใจของการ์ดเกม จากนั้นจะเกิดการบอกต่อระหว่างเพื่อน
  2. กระจายจุดจำหน่ายให้แพร่หลายมากขึ้น โดย “คิดซ์ แอนด์ คิทซ์” ได้เจรจาแปลการ์ดเกมภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยเพื่อเข้าถึงได้ง่าย และมีราคาถูกกว่าภาษาญี่ปุ่นหลายเท่าตัว รวมถึงจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ และร้านหนังสือ
  3. สร้างแอปพลิเคชั่นคำอธิบายการ์ด เพื่อเพิ่มความชัดเจนเรื่องรายละเอียด เพราะการ์ดส่วนใหญ่ที่ทำตลาดเป็นภาษาญี่ปุ่น
  4. สนับสนุนร้านค้าจนถึงระดับโรงเรียน ฝั่งร้านค้ามีการสนับสนุนทั้งการแข่งขัน และกิจกรรมอื่นๆ ส่วนระดับโรงเรียนก็มีการสนับสนุนชมรมการ์ดเกมในโรงเรียนต่างๆ เพื่อสร้าง Fighter Leader ในการช่วยสื่อสารข้อมูลการ์ดเกม
  5. จัดแข่งขันใหญ่ทั้งภูมิภาค และระดับประเทศ เป็นปกติที่ต้องจัดการแข่งขัน แต่เราจะไม่ชูเรื่องเงินรางวัล เพราะต้องการสร้างสังคมที่ดี และเปิดกว้างให้ทุกคนที่เล่นการ์ดเกมเข้ามาแข่งขันได้

การ์ดยูกิ

“ตอนนี้การ์ดภาษาไทยเราค่อนข้างไปได้ดี เพราะราคาประหยัด หาซื้อง่าย ยิ่งเราสร้างการรับรู้ด้วยการซื้อการ์ตูนมาฉายเอง ทำให้กำหนดเวลาการทำตลาดได้ เรียกว่า Cardfight!! Vanguard ภาษาไทยของเรามียอดขายค่อนข้างดี แค่ 49 บาทก็ Starter Deck พร้อมเล่นแล้ว ถูกกว่าการ์ดญี่ปุ่นที่สำรับแบบนี้ต้องมีหลายร้อยบาท”

สุดท้าย “วีระรัตน์” กล่าวว่า ตลาดการ์ดเกมคือตลาด Green Ocean หรือตลาดที่มีกำไรน้อย, ผู้เล่นน้อย แต่ความเสี่ยงสูง ต้องสร้างคุณค่า และสังคมที่ดี รวมถึง Passion ของผู้ทำธุรกิจต้องสูงเช่นกัน คล้ายกับการปลูกต้นไม้ที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องอาศัยความรัก ความเอาใจใส่ เน้นแค่ผลผลิตคงลำบาก

สรุป

แม้ “คิดซ์ แอนด์ คิทซ์” จะไม่ยืนยันว่าจะทำการ์ด Yu-Gi-Oh! เป็นภาษาไทยหรือไม่ แต่การเดินหน้ากลยุทธ์นี้ก็พิสูจน์แล้วว่ามันทำให้ตลาดการ์ดเกมไทยเติบโตได้จริง แถมยังสร้างการรับรู้ให้คนเล่นการ์ดใหม่ๆ สนุก และตัดสินใจเล่นการ์ดภาษาญี่ปุ่นด้วย

ขณะเดียวกันตัวผู้ปกครอง และคุณครูก็เติบโตมากับการเล่นการ์ดเกม ทำให้พวกเขาไม่มองการ์ดเกมเป็นการพนัน ก็ยิ่งสร้างโอกาสให้การ์ดเกมทำตลาดง่ายขึ้น แต่ถึงอย่างไรการเติบโตของตลาดการ์ดเกมมันก็ยากอยู่ดี เพราะด้วยโมบายเกมยังแรง ก็ต้องลุ้นว่าคนจะมีเวลามาเล่นการ์ดเกมที่ต้องเจอหน้ากันจริงๆ หรือไม่

หมายเหตุ // ธุรกิจของ “คิดซ์ แอนด์ คิทซ์” มีรายได้จากการ์ดเกม 60% ที่เหลือเป็นกลุ่มของเล่นเด็ก เช่นตุ๊กตาชุด Sylvanian Families และอุลตร้าแมน จัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าทั่วไป ข้อมูลงบการเงินที่ส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่ามีรายได้ปี 2561 ที่ 148 ล้านบาท กำไร 1.62 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา