เกษตรกรในอินเดียประสบปัญหาการทำเกษตรจากปรากฎการณ์โลกร้อน บางปีร้อนเกินไป เจอภัยแล้ง ส่วนบางปีเจอมรสุม ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล พืชผลเสียหาย เกษตรกรเป็นหนี้ ไม่มีรายได้ จนถึงฆ่าตัวตาย สตาร์ทอัพในอินเดีย Kheyti เกิดไอเดียประดิษฐ์โรงเรือนต้นทุนต่ำเพื่อควบคุมผลผลิตจากสภาพอากาศและป้องกันศัตรูพืช ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรรายได้น้อย เพราะราคาโรงเรือนคำนวณแล้วตกอยู่ประมาณ 70,000 บาท
อินเดียมีเกษตรกรกว่า 120 ล้านคน สตาร์ทอัพโรงเรือนน่าจะไปได้สวย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ในอินเดีย เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชได้เพราะเจอทั้งภัยแล้งและมรสุมชนิดที่คาดเดาได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรรายได้น้อย เป็นชาวนาชาวไร่ตัวเล็กตัวน้อย จำนวนหลายล้านรายไม่สามารถควบคุมผลผลิตได้ ทำให้เกิดปัญหาทางการเงิน ในปี 2015 มีรายงานว่ามีชาวนาฆ่าตัวตายไปกว่า 8,000 ราย และแทบทั้งหมดนั้นเกิดจากปัญหาทางการเงินทั้งสิ้น
จากข้อมูลพบว่า ในอินเดียมีเกษตรกรกว่า 120 ล้านราย แน่นอนว่ายังมีเกษตรกรอีกมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำเกษตร Kheyti สตาร์ทอัพผู้ผลิตโรงเรือนต้นทุนต่ำเกิดมาเพื่อมาแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ
โรงเรือนของ Kheyti เรียบง่าย เพราะใช้วัสดุน้อยชิ้น และมีขนาดเล็กเพียงครึ่งหนึ่งของสนามบาสเก็ตบอลเท่านั้น หรือคิดเป็น 2% ของฟาร์มขนาดเล็กในอินเดีย โดยม่านคลุมโรงเรือนมีคุณสมบัติลดอุณหภูมิภายในได้ถึง 5-8 องศาเซลเซียส แถมยังมีตาข่ายรอบด้านเพื่อลดการโจมตีของแมลงและศัตรูพืชได้ถึง 90%
โรงเรือนนี้มากับระบบน้ำหยดที่จะช่วยลดอุณหภูมิให้กับพืช ลดการใช้น้ำได้มากถึง 90% พร้อมความสามารถในการป้องกันโรคของพืช และป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้อีกด้วย สตาร์ทอัพรายนี้ บอกว่า เกษตรกรจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าเลยทีเดียว
นอกจากนั้น โรงเรือนของ Kheyti เพิ่งได้รับรางวัลจากการแข่งขันนวัตกรรมของ Global Social Venture Competition 2017 ด้วยจุดเด่นของโรงเรือนที่เรียบง่าย ราคาไม่แพง และสามารถตั้งบนพื้นที่ขนาดเล็กของฟาร์มได้ ที่สำคัญสตาร์ทอัพรายนี้ยังรับประกันรายได้ หากตลอดทั้งปีนั้นผลผลิตไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง และพิสูจน์ทราบได้ว่าเกิดจากความผิดพลาดของระบบโรงเรือน
Kaushik Kappagantulu หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บอกว่า “ปัญหาหลักของชาวนาอินเดียคือรายได้ที่ไม่แน่นอน เพราะชาวนาทำรายได้ได้เพียงหนึ่งครั้งหรือสองครั้งต่อปี หากมีผลกระทบจากสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม หรือการโจมตีของศัตรูพืช ปีนั้นก็ขาดรายได้ไป นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขายังคงติดอยู่ในวงจรความยากจน”
สำหรับเกษตรกรที่ต้องการใช้งานโรงเรือนนี้ ราคาอยู่ที่ 2,000 เหรียญหรือประมาณ 70,000บาท แต่สตาร์ทอัพ Kheyti ร่วมมือกับธนาคารให้มาเป็นพาร์ทเนอร์กับลูกค้าเกษตรกรที่มีรายได้น้อย โดยเปิดให้วางเงินดาวน์เริ่มต้นที่ 400 เหรียญหรือประมาณ 14,000 บาท หลังจากนั้นให้ชำระเงินเป็นไตรมาส ไตรมาสละ 175 เหรียญหรือราว 6,000 บาท ภายใน 3 ปีก็จะครบ
อย่างไรก็ตาม เงินดาวน์ 14,000 บาทยังคงอยู่ในอัตราที่สูงเกินกว่าเกษตรกรรายได้น้อยจะเอื้อมถึง สตาร์ทอัพรายนี้จึงพยายามหาทางลดต้นทุนให้เหลือการวางเงินดาวน์เพียง 3,500 ถึง 7,000 บาท
แต่ปัญหายังไม่หมดเท่านั้น แม้ต่อไปจะสามารถจัดการปัญหาเรื่องโรงเรือนได้ทั้งหมดแล้ว แต่ดูเหมือนว่าวงจรความยากจนยังคงหมุนกลับมาหาเกษตรรายได้น้อยอยู่ การเข้าถึงเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยยังคงทำได้ยาก เพราะผูกขาดโดยทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น สตาร์ทอัพกลุ่มนี้จึงวางแผนจัดอบรมให้ความรู้แนะนำการจัดการโรคพืชและวิธีการปลูกด้วย แต่ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นที่โรงเรือนต้นทุนต่ำเสียก่อน และต่อยอดไปยังด้านอื่นๆ
แผนของ Kheyti ในปี 2018 จะเริ่มนำไปทดสอบกับเกษตรกรประมาณ 300 รายเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตและให้สอดคล้องกับการจ่ายหนี้ทดแทนในการกู้ยืมเพื่อซื้อสินค้าในอนาคต นอกจากนั้นจะกระตุ้นแผนธุรกิจออกไปอย่างรวดเร็วในปีหน้า เพราะมีเกษตรกรที่ลงชื่อสนใจกว่า 3,000 ราย และได้ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2025 จะขยายธุรกิจออกไปให้เกษตรกรใช้งานกว่า 1 ล้านรายทั่วอินเดีย
ที่มา – Fast Company
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา