ชาวญี่ปุ่นกว่า 127 ล้านคนนับถือศาสนาคริสต์เพียง 1% เท่านั้น แต่ทำไมพอถึง “วันคริสต์มาส” ทีไร ครอบครัวในญี่ปุ่นต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แถมยังเกิดประเพณีใหม่คือการรับประทานไก่ทอด KFC แทนไก่งวงอีกด้วย
ประเพณีสุดแปลก ที่แหวกทุกแนวคิด
ถ้าจะให้เล่าถึงประเพณีรับประธานไก่ทอด KFC ในวันคริสต์มาสของชาวญี่ปุ่นต้องย้อนในปี 2513 ที่ Fastfood เจ้าดังจากสหรัฐอเมริกาบินมาเปิดสาขาแรกในแดนอาทิตย์อุทัย พร้อมจ้าง Takeshi Okawara ที่จบจากมหาวิทยาลัย Harvard เป็นผู้จัดการประจำประเทศญี่ปุ่นคนแรก และเขาคนนี้คือผู้คิดประเพณีนี้ขึ้นมา
โดยอ้างอิงจากเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติในตอนนั้นที่คิดถึงไก่งวง และการเฉลิมฉลองในวันคริสต์มาส หนุ่มจาก Havard คนนี้จึงเปรียบเปรยว่าไก่ทอดก็คงเหมือนไก่งวง พร้อมปิ๊งไอเดียการตลาดในชื่อ Kurisumasu ni wa Kentakkii หรือ Kentucky for Christmas ขึ้นในปี 2517 แถมยังขายได้ดีเป็นเทน้ำเทท่าอีกด้วย
สำหรับแคมเปญดังกล่าว KFC จะจำหน่ายไก่ทอดชุดพิเศษที่ประกอบด้วยไก่ทอด, เค้ก และไวน์ โดยทั้งหมดบรรจุไว้ในถัง (Party Barrel) สีแดงขาว เพื่อสื่อถึงวันคริสต์มาส แต่นั่นคือในอดีต เพราะปีนี้เพิ่มความพรีเมียมด้วยไก่อบ เพื่อใกล้เคียงกับประเพณีคริสต์มาสที่อื่น จำหน่ายตั้งแต่ราคา 3,780-5,000 เยน (ราว 1,000-1,500 บาท)
หลายแบรนด์ดึงขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา
ถ้าพูดถึงเรื่องยอดขาย ในเดือนธ.ค. ของทุกปีจะเป็นเวลาที่ KFC ประเทศญี่ปุ่นยุ่งมากที่สุด ผ่านยอดขายที่สูงกว่า 10 เท่าตัวของเวลาปกติ และแค่เฉพาะชุดคริสต์มาส ก็คิดเป็นยอดขายถึง 1 ใน 3 ของยอดขายทั้งปีอีกด้วย จึงไม่แปลกที่หลายครอบครัวจะสั่งชุดนี้ล่วงหน้า เพราะบางครั้งต้องรอหน้าร้านนานเป็นชั่วโมงกว่าจะได้สั่ง
จากความสำเร็จนี้เอง ทำให้แคมเปญคริสต์มาสของ KFC ในประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นกรณีศึกษาของหลายๆ แบรนด์ ถึงขั้นบางเจ้าบินมาดูด้วยตนเองว่าทำไมถึงขายดีขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประเพณีเกี่ยวกับคริสต์มาสมาก่อน และ ผู้พันแซนเดอร์ส ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาสอีกด้วย ผ่านการแต่งตัวเป็นลุงซานต้าแทนชุดปกติ
Joonas Rokka รองศาสตราจราย์ด้านการตลาด ของ Emlyon Business School มองว่า แคมเปญคริสต์มาสของ KFC ในญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์สำคัญ เพราะไม่เคยมีใครบอกมาก่อนว่าในวันคริสต์มาสต้องรับประทานไก่ทอด แต่เป็น KFC ที่เป็นผู้บอกให้คนเหล่านั้นต้องมากินไก่ทอดของบริษัท เพื่อเติมเต็มการเฉลิมฉลองไปด้วยกัน
สรุป
นอกจากคริสต์มาสในญี่ปุ่นต้องรับประทาน KFC แล้ว ประชากรที่นั่นยังให้ความสำคัญกับ “วันวาเลนไทน์” ด้วย แม้พวกเขาจะไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ก็ตาม เพราะในวันนั้นหนุ่มสาวที่นั่นจะชวนกันไปรับประทานอาหารหรูๆ เพื่อเฉลิมฉลองในวันพิเศษ และจากข้อพิสูจน์นี้เอง ทำให้เห็นว่าแม้จะไม่ใช่ประเพณีที่เกิดขึ้นมาก่อน แต่ถ้ามองในมุมการตลาด อะไรที่สามารถจูงใจให้ผู้บริโภคเกิดการซื้อหาสินค้าได้ มันก็ไม่มีกำแพงในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ
อ้างอิง // BBC, ภาพ KFC ประเทศญี่ปุ่น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา