เจาะลึกความสำเร็จของซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) หนึ่งในองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย พนักงานและองค์กร-สังคม-สิ่งแวดล้อมต้องเติบโตไปด้วยกัน

การบริหารทรัพยากรบุคคล คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน เนื่องจากบุคลากรถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ วันนี้ Brand Inside ได้รับโอกาสจากบริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) ผู้คว้ารางวัลองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย

Suntory

โดยมีหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนฝ่ายทรัพยาบุคคลในองค์กร ก็คือ ณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์(คุณลัคกี้) รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า มาร่วมพูดคุย เราจะมาถอดบทเรียนความสำเร็จกันว่า กลยุทธ์ใดที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ และตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) ให้ความสำคัญกับบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

คุณลัคกี้เล่าว่าอยู่กับ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) มา 1 ปี 8 เดือนแล้ว รู้สึกดีใจที่ได้เข้ามาทำงานกับ Suntory Group ซึ่งเป็นองค์กรผลิตเครื่องดื่มสัญชาติญี่ปุ่นที่อยู่ในอันดับต้นๆของโลก โดยก่อนจะมารับตำแหน่งที่ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) คุณลัคกี้ได้สั่งสมประสบการณ์ด้านการบริหารบุคคลมากว่า 20 ปี จากการทำงานในองค์กรต่างประเทศมาโดยตลอด ทั้ง DHL, HSBC, Tesco, Kimberly Clark, Diageo, JTI, Prudential และปัจจุบันคือ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) 

ณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์(คุณลัคกี้) รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า
ณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์(คุณลัคกี้) รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า

รู้จักวิสัยทัศน์ Growing for Good

เราดำเนินงานโดยยึดถือวิสัยทัศน์ Growing for Good ของ Suntory Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเราที่มุ่งให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกด้าน ทำอย่างไรให้เราอยู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เราให้ความสำคัญกับโครงการ CSR ค่อนข้างมาก เช่น โครงการมิตซุยกุที่ปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข โดยการให้ความรู้กับคุณครูในจังหวัดระยองเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งต่อความรู้สู่นักเรียน โดยมีอเล็กซ์ เรนเดลล์ตัวแทนจาก EEC มาร่วมเป็นวิทยากร เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ได้อยากเติบโตเพียงลำพังโดยไม่คำนึงถึงชุมชนหรือคนในท้องถิ่นหรือทรัพยากรธรรมชาติ แต่เราให้ความสำคัญกับการเติบโตในทุกๆด้าน

นอกจากนี้เรายังนำนโยบายดังกล่าวมาปรับใช้กับการบริหารบุคลากรในองค์กร เช่น การทำ Talent Review ซึ่งผู้บริหารระดับประเทศและระดับภูมิภาคต้องใช้เวลาประชุมหารือเพื่อดูว่าแต่ละคนมีศักยภาพด้านใด มีพัฒนาการด้านไหน จะทำอย่างไรให้เขาเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับองค์กร ซึ่งการพัฒนาศักยภาพของพนักงานเรายึดหลัก Learning Approach 70:20:10 ในการจะสร้างอาชีพตามที่เขาต้องการ ดังนี้ 

70% คือ On the job training เช่น การให้มอบหมายให้ไปทำงานในตำแหน่งที่อยากพัฒนาทักษะ โดยอาจให้ชิ้นงานแบบมีจำกัดระยะเวลา เพื่อได้ลองทำงานในตำแหน่งนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมหรือดูความเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น

20% คือการ Coaching และ Mentoring สำหรับซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) เราทำ Mentoring Program คือให้ผู้บริหารมาเป็น Mentor ให้เป็นมากกว่าการสอนงานในระดับหัวหน้าต่อลูกน้อง และพร้อมทั้งให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา

10% คือ Classroom training เราให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก มีทั้งด้าน Hard Skills และ Soft Skills 

นอกจากนี้ ถ้าพนักงานที่มีความสามารถเหล่านี้สามารถเดินทางไปทำงานในประเทศอื่นๆ ได้ องค์กรก็พร้อมจะสนับสนุนให้เขาได้รับโอกาสนั้นโดยไม่จำเป็นต้องทำงานตำแหน่งเดิมไปตลอด เพราะซันโทรี่มีเครือข่ายอยู่ในหลายประเทศและเราก็ร่วมมือกันทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค นี่คือตัวอย่างการเติบโตอย่างยั่งยืน 

ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรเรายังให้ความสำคัญกับเรื่อง DE&I ในเรื่อง Diversity หรือความหลากหลาย เราเป็นองค์กรระดับโลก มีคนทำงานค่อนข้างมากจากหลากหลายเชื้อชาติ เราส่งเสริมความหลากหลายในทุกๆแง่มุม เพราะความหลากหลายเหล่านี้ช่วยสนับสนุนความคิดริเริ่ม และการเห็นต่าง ซึ่งช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า 

Equity คือความเท่าเทียม เรายึดหลักปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าพนักงานจะทำตำแหน่งอะไรก็ตามในองค์กร

Inclusion คือการหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อเรามาดูนิยามทั้งหมด จะเห็นว่า Diversity หรือความหลากหลายก็เหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆจำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่ แต่เมื่อไรที่เราเอาจิ๊กซอว์มาต่ออย่างถูกต้องเข้าด้วยกัน เราจะได้ภาพที่สวยงาม นั่นก็คือนิยามของคำว่า Inclusion หรือพูดอีกอย่างว่ามันคือการหลอมรวมกันของความหลากหลายเหล่านั้น

หมดยุคการทำงาน เก้าโมงเช้า เลิกงานห้าโมงเย็น

หลังโควิด-19 ระบาด ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างหนึ่งที่องค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากขึ้น คือ ความยืดหยุ่น คนรุ่นใหม่ไม่ได้เน้นการทำงานกับองค์กรใดนานๆ และประเทศไทยถือเป็น Talent War หมายถึงในสังคมการทำงานเรามี Talent อยู่จำกัด มีการแข่งขันกันสูงมาก โอกาสในเรื่องงานของประเทศไทยจะเอื้อให้กับลูกจ้างมากกว่านายจ้าง ในส่วนของการบริหารงานนั้น องค์กรต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงดูดคนเก่งๆให้มาทำงานกับเราให้ได้ 

องค์กรต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างทั้งเรื่องสวัสดิการ ผลประโยชน์ ความยืดหยุ่น การให้โอกาสในความก้าวหน้าทางอาชีพ ความเป็นผู้นำ คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นอีกต่อไปแล้ว เพราะปัจจุบันพวกเขาสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ถ้าองค์กรไหนไม่มีนโยบาย Work from home ก็จะมีความน่าสนใจลดลง ยุคนี้ถือเป็นเรื่องของ Employee centric กล่าวคือ ให้พนักงานเป็นศูนย์กลาง และเราเชื่อมั่นในพนักงานของเราว่าพนักงานมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนพวกเขายังสามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพได้เหมือนเดิม

ความท้าทายในการบริหารงานส่วนบุคคลในยุคโควิด-19 ระบาดจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของการบริหารงานทรัพยากรบุคคลในยุคโควิด-19 นั้นแตกต่างจากเดิมมาก โดยปกติคุณลัคกี้ไม่ได้ดูแลแค่แผนกทรัพยากรบุคคลเท่านั้น แต่ยังดูแลแผนกกฎหมายและแผนกรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ เรียกได้ว่าดูแลความเรียบร้อยการจัดการและการบริหารทุกอย่างภายในองค์กร การบริหารทรัพยากรบุคคลช่วงโควิด-19 ฝ่ายบุคคล ต้องทำทุกอย่าง คนในทีมจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือเรื่องนี้ตลอดเวลา สิ่งที่สำคัญก็คือจะทำยังไงให้การสื่อสารไม่ล้มเหลว นอกจากการสื่อสารผ่านทางอีเมลแล้ว ยังมีช่องทางการสื่อสารอื่นๆอีกเช่น Line Official, Microsoft Teams, การประชุม Mini Townhall ที่ให้หัวหน้าแผนกได้สื่อสารกับลูกทีม และการประชุมรายสัปดาห์ของผู้บริหารระดับสูง

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องคำนึงเสมอว่าจะทำอย่างไรที่ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กรตลอดเวลา เช่น การพูดคุยกัน ไม่ใช่แค่เรื่องงานอย่างเดียว เราผลักดันให้เกิดกิจกรรมหลายด้าน อาทิ Coffee with CEO ผ่านทางออฟไลน์และออนไลน์ วิธีการก็คือใช้บริการ food delivery ส่งเครื่องดื่มและอาหารให้พนักงาน พอถึงเวลาก็เอามาทานด้วยกัน พูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ทำให้พนักงานได้ใกล้ชิดผู้บริหารระดับสูงมากขึ้นส่งผลให้พนักงานรู้สึกมีความสุขในการทำงานมากขึ้น 

นอกจากนี้ เรายังจัดให้มี Quarterly Townhall หรือการประชุมรายไตรมาสผ่าน Microsoft Team และก็บรอดแคสต์ในวงกว้างให้พนักงานที่สำนักงานใหญ่, โรงงานที่ชลบุรี 3 แห่ง รวมถึงที่ฟิลิปปินส์ และที่อินโดจีน หรือที่พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนามได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมด้วย

Suntory

ความสำเร็จการบริหารงานทรัพยากรบุคคลของ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย)

คุณลัคกี้เล่าว่า ปี 2022 ถือว่ามีความท้าทายมากในแทบทุกด้าน ทั้งเรื่องเงินเฟ้อหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในการบริหารงานทรัพยากรบุคคล ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) ได้ใช้กลยุทธ์ Employer Branding เพื่อที่จะดึงดูดคนที่มีศักยภาพ และรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร ทั้งในด้าน Internal ที่เป็นการให้รางวัล (Reward) และการให้สวัสดิการที่เป็นผลประโยชน์ต่อพนักงาน (Benefit) ในขณะที่ด้าน External เรามีการจัดโร้ดโชว์ไปตามมหาวิทยาลัยเพื่อโปรโมทองค์กรกับคนรุ่นใหม่ๆ และจัดกิจกรรม CSR ที่ครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ส่งผลให้เราได้รับรางวัลจากนิตยสารชั้นนำของโลกคือ HR Asia Award ให้เป็นองค์กรหนึ่งที่น่าทำงานด้วยในเอเชียแปซิฟิก เรียกว่า The Best Companies to work for และรางวัลพิเศษ  WeCare 2022 จากการมาสำรวจความคิดเห็นของพนักงานและมาดูว่าในภาคปฏิบัติของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ว่าเป็นอย่างไรบ้าง 

เราเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ Wellness ความสุขสมบูรณ์ของพนักงาน, Welfare สวัสดิการของพนักงาน ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) ทั้งหมด 

การย้ายออฟฟิศใหม่ คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่คนทำงาน

อีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรพร้อมฟังเสียงและให้การส่งเสริมศักยภาพในการทำงานของพนักงาน ก็คือ การให้ความสำคัญกับสถานที่และบรรยากาศในการทำงาน ด้วยการทำออฟฟิศใหม่ เพื่อรองรับการทำงานในปัจจุบัน ให้พนักงานได้เห็นบรรยากาศใหม่ๆ ตลอดจนปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือ Working area เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีอิสระ และไม่รู้สึกกดดันจากการทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับองค์กรให้เข้ากับโลกยุคดิจิทัล รองรับการทำงานในรูปแบบ Hybrid อาทิ ให้มี Hot-seat และ Co- working space คือการจัดพื้นที่สำนักงานให้มีโต๊ะส่วนกลางเน้นตอบโจทย์เรื่องของ Open Space และสร้างความยืดหยุ่นและอิสระในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยพนักงานสามารถมาใช้โต๊ะทำงานส่วนกลางในเวลาใดก็ได้ ตำแหน่งไหนก็ได้ เพิ่มโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมที่ตอบสนองความต้องการหลากหลายรูปแบบ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่พนักงาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Suntory

นอกจากนี้เรายังส่งเสริมวัฒนธรรมให้พนักงานได้มีการชื่นชมและขอบคุณกันและกันตลอดเวลา โดยมีการสร้างบอร์ดที่ให้พนักงานแปะกระดาษเขียนข้อความขอบคุณผู้คนที่สนับสนุนหรือส่งเสริมการทำงานให้ดีขึ้น สะท้อนหนึ่งในค่านิยมสำคัญขององค์กร Yatte Minahare อ่านว่า ยัตเตะ มินาฮาเระ หมายความว่า การมีจิตวิญญาณของผู้กล้า ลงมือทำ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ มีพลังขับเคลื่อนทุ่มเทคิดสิ่งใหม่ๆ ส่งมอบผลลัพธ์ที่มีคุณค่าและสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมผ่านการทดลองลงมือปฏิบัติจริงและเรียนรู้จากความสำเร็จหรือความล้มเหลวไปพร้อมกัน

สรุป

บทเรียนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จของซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) ก็คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร ขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้สอดรับกับผู้คนและยุคสมัย นี่คือเครื่องสะท้อนความพยายามที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งการทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่นพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงก็ทำให้พนักงานมีแรงใจในการทำงานมากขึ้นและยังช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อให้พนักงานพร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมๆกับองค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา