ส่องกลยุทธ์ Kerry Express ทำอย่างไรถึงเป็นเบอร์หนึ่งขนส่งฝั่งเอกชนด้วยส่วนแบ่งการตลาด 80%

แม้จะเริ่มตลาดไทยเมื่อปี 2549 ช้ากว่ายักษ์ใหญ่รายอื่นๆ แต่ Kerry Express ก็เติบโตได้เร็วมาก ผ่านจุดส่งสินค้า 2,500 จุด และยานพาหนะ 11,000 คัน ว่าแต่กลยุทธ์อะไรทำให้ขนส่งจากฮ่องกงขยายธุรกิจได้เร็วขนาดนี้ล่ะ

Kerry Express

เข้ามาตอน E-Commerce บูมพอดิบพอดี

เป็นเวลา 12 ปีแล้วที่ Kerry Express เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยเริ่มจากธุรกิจตัวแทนรับส่งสินค้า Last-Mile ให้กับ Logistic ยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศเป็นหลัก ก่อนที่จะผันตัวเข้ามารับงานส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงรับงานจาก E-Commerce ยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยที่กำลังเริ่มทำตลาดในช่วงเวลานั้น

อเล็กซ์ อึ้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า บริษัทแม่จากฮ่องกงเห็นโอกาสธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าที่นี่ ทำให้ตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของ E-Commerce ในอนาคต

อเล็กซ์ อึ้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด

“ช่วงแรกเราได้เป็นพาร์ทเนอร์กับ E-Commerce ยักษ์ใหญ่หลายราย เช่น Lazada และทำผลงานการขนส่งออกมาค่อนข้างดี ทำให้ผู้บริโภครู้จักเรามากขึ้น และหลังจากนั้นเราก็เข้ามารุกตลาด C2C เต็มตัว ทำให้ยอดส่งสินค้าเรามาจาก B2C กับ C2C พอๆ กัน ส่วนธุรกิจรับบริการส่งสินค้าจาก Logistic ยักษ์ใหญ่ในไทยนั้นมีสัดส่วนน้อยมาก”

ติดสปีดโตไปด้วยกันในรูปแบบพาร์ทเนอร์

สำหรับยอดส่งในพัสดุในประเทศไทยนั้น Kerry Express มีส่วนแบ่งในการขนส่ง 80% คิดเป็นจำนวน 7.5 แสนชิ้น/วัน และเป็นอันดับ 1 ของตลาดนี้ โดยทิ้งคู่แข่งเช่น SCG Express, TP Logistic และ Ninja Van ค่อนข้างขาด รวมถึงจุดรับส่งสินค้า และยานพาหนะในบริษัทที่มีกว่า 2,500 จุด และ 11,000 คันตามลำดับ

Kerry Express Thailand // ภาพจาก Shutterstock
Kerry Express Thailand // ภาพจาก Shutterstock

“ต้องบอกก่อนว่าเราเดินหน้าธุรกิจแบบพาร์ทเนอร์ ไล่ตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์ขนส่งในกรุงเทพ รวมถึงรถขนส่งอื่นๆ เราก็เช่าเอาทั้งหมด รวมถึงจุดส่งสินค้าก็เน้นวิธีการขยายแบบพาร์ทเนอร์ ทั้งร่วมกับเอสเอ็มอีที่สนใจ และ Retail รายใหญ่ ซึ่งตอนนี้เราก็มีทั้งร้าน FamilyMart และ OfficeMate ที่เข้าร่วมเป็นจุดรับสินค้ากับเรา”

อย่างไรก็ตามยักษ์ใหญ่ขนส่งในประเทศไทยรายนี้ก็มีจุดรับส่งที่บริหารด้วยตัวเองเช่นกัน เพื่อเสริมสร้างงานบริการ และเชื่อมต่อการทำธุรกิจแบบ Online to Offline (O2O) ได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น จนปัจจุบันมียอดขนส่งพัสดุกว่า 7.5 แสนชิ้น/วัน คิดเป็น 80% ของตลาด (ไม่รวมการส่งพัสดุของไปรษณีย์ไทย)

หน้าร้าน Family Mart สาขา Holiday Inn สีลม

ลงทุน 1,800 ล้านบาทขยายคน-หน้าร้าน-สายส่ง

ส่วนปีนี้ Kerry Express มีแผนลงทุน 1,800 ล้านบาทในประเทศไทยเพื่อเพิ่มพนักงาน, หน้าร้านรับส่งสินค้า และเช่ารถสายส่งเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังขยาย Mega Hub หรือคลังสินค้าขนาดใหญ่ย่านบางนาให้มีพื้นที่ 36,000 ตร.ม. เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

สายส่งของ Kerry Express

“เราต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยปีนี้ Kerry Express ตั้งเป้าส่งพัสดุถึง 1 ล้านชิ้น/วัน และน่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคาดการณ์ว่า E-Commerce ในไทยจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 ดิจิทใน 5 ปีจากนี้ แต่ถึงลงทุนขนาดไหน เราก็ยังไม่มีแผนทำตลาด Direct Delivery หรือส่งภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงในเวลานี้แน่ๆ”

ทั้งนี้บริษัทยังมีแผนทำตลาด Cross Boarder หรือการรับส่งสินค้าจากต่างประเทศให้กับลูกค้าในไทย เพราะปัจจุบันมีบริษัทจากจีนหลายรายเริ่มทำตลาดนี้ และเป็นอีกโอกาสสำคัญในการสร้างธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น แต่เชื่อว่าในระยะสั้นยังเป็นสัดส่วนการส่งพัสดุ และรายได้ที่ยังน้อยอยู่

สรุป

ถ้ามองกันจริงๆ Kerry Express ไม่ใช่บริษัทขนส่ง แต่คือแพลตฟอร์มกลางสำหรับการเชื่อมต่อพัสดุจากผู้ส่งถึงผู้รับมากกว่า เพราะตัวบริษัทนี้แทบไม่ได้มีคนส่งสินค้าเป็นของตัวเอง มีแต่การเช่าใช้ และพาร์ทเนอร์กับจุดรับส่งต่างๆ เท่านั้น และเชื่อว่าถ้ายักษ์ใหญ่อย่างไปรษณีย์ไทยยังไม่ขยับตัว ในระยะยาวก็อาจโดนขนส่งรายนี้แซงได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา