คุกกี้กล่องแดงเตรียมเข้าตลาดหุ้น! ส่องธุรกิจ KCG สร้างธุรกิจระดับพันล้านด้วย คุกกี้ เนย ชีส และอาหารสำเร็จรูป

หากพูดถึง บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น (KCG) หลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่ถ้าบอกว่า คุกกี้กล่องแดง หรือ คุกกี้อิมพีเรียล เชื่อว่าหลายคนจะร้อง อ๋อ ทันที แสดงถึงการมีประสบการณ์ร่วมกันมาตลอดระยะเวลา 65 ปี ที่ KCG ผลิตคุกกี้และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ออกมาสู่ตลาด เรียกว่าสร้างความผูกพันกันมายาวนานจนถึงวันนี้ที่ธุรกิจ KCG มีมูลค่าระดับ 5 พันล้านบาท และเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มาดูกันว่า KCG ทำอะไรอีกบ้าง เชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลายคนรู้จักกันอย่างดี

บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น หรือ KCG ผู้นำธุรกิจเนย ชีส วัตถุดิบเบเกอรี่และอาหารตะวันตก เริ่มต้นจากการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และพัฒนาธุรกิจมาจนเป็นผู้ผลิต มีโรงงานและเทคโนโลยีทันสมัย จนสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในไทยและส่งออกต่างประเทศได้

ตง ธีระนุสรณ์กิจ ประธานกรรมการบริหาร ของ KCG บอกว่า จุดเริ่มต้นของอาณาจักรธุรกิจอาหารตะวันตกของ KCG มาจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ซึ่งได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการจึงได้ริเริ่มนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนยและชีส ภายใต้แบรนด์ Allowrie จากประเทศออสเตรเลีย และบัตเตอร์คุกกี้สูตรเดนมาร์ก ภายใต้แบรนด์ Imperial ปัจจุบัน ยังเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ชั้นนำจากทั่วโลก รวมกว่า 2,100 รายการ

นอกจากการผลิตที่แข็งแกร่งผ่านโรงงานาของตัวเอง KCG มีระบบโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ KCG สามารถส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกช่องทางทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน KCG มีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (Dairy Products) ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เนย ชีส และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่แปรรูปมาจากนม เช่น นมพร้อมดื่ม วิปปิ้งครีม ครีมชีส และโยเกิร์ต
  2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบอาหารและเบเกอรี่ (Food and Bakery Ingredients) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์อาหาร ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ส่วนผสมของอาหาร (Food Ingredients) เช่น น้ำมันมะกอก และมายองเนส ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารทะเล 2) ผลิตภัณฑ์ประกอบการทำเบเกอรี่ อาทิ แป้งเค้ก และแป้งมิกซ์ 3) ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้เข้มข้นภายใต้แบรนด์ SUNQUICK และ 4) อุปกรณ์ในการทำเบเกอรี่และอุปกรณ์ประกอบอาหาร
  3. กลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต (Biscuits) ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์คุกกี้ ผลิตภัณฑ์แครกเกอร์ และผลิตภัณฑ์เวเฟอร์

ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก จากปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เริ่มฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจบริการอาหารและอุตสาหกรรมอาหารให้ขยายตัว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา KCG ได้พัฒนาสินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร หรือ KCG Excellence Center ซึ่งได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์คีโต (Keto) Butter MCT ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช (Plant Based) ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมของ KCG ครองความเป็นผู้นำในตลาด โดยในปี 2564 ผลิตภัณฑ์เนยและชีสของ KCG มีส่วนแบ่งตลาด (Market Share อันดับ 1) อยู่ที่ร้อยละ 55.0 และร้อยละ 31.6 ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบการทำเบเกอรี่และผลิตภัณฑ์บิสกิตของ KCG ยังมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ใน 5 อันดับแรกอีกด้วย (ข้อมูลจาก Euromonitor)

4 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ

  1. ขยายกำลังการผลิตพร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมายกระดับกระบวนการผลิต โดยวางแผนลงทุนเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อขยายกำลังการผลิต (Capacity Expansion) พร้อมบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
  2. พัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ โดยบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาสูตรใหม่ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมและไม่ได้ทำจากนม เพื่อเป็นอาหารทางเลือกใหม่ซึ่งดีต่อสุขภาพและสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งช่วยตอกย้ำความเป็นผู้นำในการนำเสนอสินค้าสู่ตลาด (Trend Setter)
  3. สร้างช่องทางการจำหน่ายที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งขยายช่องทางจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมทั้งช่องทางร้านสะดวกซื้อและตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) สำหรับกลุ่มผู้บริโภค (B2C) พร้อมยกระดับการให้บริการกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ (B2B) อาทิ ผู้ให้บริการด้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร จัดเลี้ยง (HORECA) และกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ผ่านการจัดหาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร ตลอดจนขยายตลาดในต่างประเทศผ่านตัวแทนจัดจำหน่าย จากปัจจุบันที่มีการส่งออกไปแล้ว 15 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้
  4. ขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&A Opportunities) โดยบริษัทฯ มุ่งสร้างการเติบโตทั้งในและต่างประเทศผ่านการร่วมทุน (Joint Venture) หรือการควบรวมกิจการ (M&A) โดยเน้นธุรกิจที่มีเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์ที่เสริมศักยภาพการเติบโตให้แก่ KCG อาทิ ธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) ซึ่งเป็นธุรกิจที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) เพื่อให้เกิดการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ธวัช ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส  KCG กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนการลงทุนในปี 2566-2567 เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ ได้แก่ การลงทุนก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า (KCG Logistics Park) เพื่อเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บและบริหารจัดการสินค้าอย่างทันสมัยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งขยายกำลังการผลิตที่โรงงานเทพารักษ์ด้วยการนำเทคโนโลยีมายกระดับกระบวนการผลิต โดยมีแผนในการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ชีส (Individually Wrapped Processed Cheese Slices) จากเดิม 2,106 ตันต่อปี ให้เพิ่มเป็น 4,212 ตันต่อปี ภายในปีนี้ และจะขยายกำลังการผลิตเนย จากในปัจจุบัน 18,596 ตันต่อปี เพิ่มเป็น 23,261 ตันต่อปี ในปี 2567 เพื่อรองรับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562-64) KCG มีรายได้รวม 5654.6 ล้านบาท 4,950 ล้านาท และ 5,265 ล้านบาท อาจลดลงบ้างในช่วงโควิด แต่หลังจากสถานการณ์โควิดเบาลง ก็สามารถทำได้รายกลับมาได้ โดยปี 2565 ถึงกันยายน 2565 มีรายได้ 4,301.9 ล้านบาท (ไม่รวมไตรมาสสุดท้าย) โดยมีสัดส่วนทั้ง B2C และ B2B เท่าๆ กัน ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิดไม่มากนัก

ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน

  1. การมีผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีและได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน
  2. มีความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรม รวมถึงมีการให้บริการแบบครบวงจร (One-stop Service)
  3. มีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับลูกค้า ผู้จัดหาวัตถุดิบ (Supplier) และแบรนด์ที่บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทย
  4. การมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย และระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
  5. สามารถเข้าถึงโอกาสที่เกิดจากแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ (megatrends) และความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรม
  6. มีผลการดำเนินงานและผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลจากการมีคณะผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ความเชี่ยวชาญ และมากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอาหารมานานกว่า 60 ปี

สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุน แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก

  1. ลงทุนในการก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park
  2. ลงทุนซื้อเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพการผลิต
  3. ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
  4. เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ทุนจดทะเบียนและรายละเอียดการเสนอขายหุ้น IPO

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2565 จำนวน 560 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 560 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.0 บาท โดยมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 390 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 390 ล้านหุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 170 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30.4 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา