หากพูดถึง บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น (KCG) หลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่ถ้าบอกว่า คุกกี้กล่องแดง หรือ คุกกี้อิมพีเรียล เชื่อว่าหลายคนจะร้อง อ๋อ ทันที แสดงถึงการมีประสบการณ์ร่วมกันมาตลอดระยะเวลา 65 ปี ที่ KCG ผลิตคุกกี้และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ออกมาสู่ตลาด เรียกว่าสร้างความผูกพันกันมายาวนานจนถึงวันนี้ที่ธุรกิจ KCG มีมูลค่าระดับ 5 พันล้านบาท และเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มาดูกันว่า KCG ทำอะไรอีกบ้าง เชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลายคนรู้จักกันอย่างดี
บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น หรือ KCG ผู้นำธุรกิจเนย ชีส วัตถุดิบเบเกอรี่และอาหารตะวันตก เริ่มต้นจากการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และพัฒนาธุรกิจมาจนเป็นผู้ผลิต มีโรงงานและเทคโนโลยีทันสมัย จนสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในไทยและส่งออกต่างประเทศได้
ตง ธีระนุสรณ์กิจ ประธานกรรมการบริหาร ของ KCG บอกว่า จุดเริ่มต้นของอาณาจักรธุรกิจอาหารตะวันตกของ KCG มาจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ซึ่งได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการจึงได้ริเริ่มนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนยและชีส ภายใต้แบรนด์ Allowrie จากประเทศออสเตรเลีย และบัตเตอร์คุกกี้สูตรเดนมาร์ก ภายใต้แบรนด์ Imperial ปัจจุบัน ยังเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ชั้นนำจากทั่วโลก รวมกว่า 2,100 รายการ
นอกจากการผลิตที่แข็งแกร่งผ่านโรงงานาของตัวเอง KCG มีระบบโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ KCG สามารถส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกช่องทางทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน KCG มีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม (Dairy Products) ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์เนย ชีส และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่แปรรูปมาจากนม เช่น นมพร้อมดื่ม วิปปิ้งครีม ครีมชีส และโยเกิร์ต
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบอาหารและเบเกอรี่ (Food and Bakery Ingredients) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์อาหาร ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ส่วนผสมของอาหาร (Food Ingredients) เช่น น้ำมันมะกอก และมายองเนส ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารทะเล 2) ผลิตภัณฑ์ประกอบการทำเบเกอรี่ อาทิ แป้งเค้ก และแป้งมิกซ์ 3) ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้เข้มข้นภายใต้แบรนด์ SUNQUICK และ 4) อุปกรณ์ในการทำเบเกอรี่และอุปกรณ์ประกอบอาหาร
- กลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต (Biscuits) ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์คุกกี้ ผลิตภัณฑ์แครกเกอร์ และผลิตภัณฑ์เวเฟอร์
ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก จากปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เริ่มฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจบริการอาหารและอุตสาหกรรมอาหารให้ขยายตัว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา KCG ได้พัฒนาสินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร หรือ KCG Excellence Center ซึ่งได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์คีโต (Keto) Butter MCT ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช (Plant Based) ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมของ KCG ครองความเป็นผู้นำในตลาด โดยในปี 2564 ผลิตภัณฑ์เนยและชีสของ KCG มีส่วนแบ่งตลาด (Market Share อันดับ 1) อยู่ที่ร้อยละ 55.0 และร้อยละ 31.6 ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบการทำเบเกอรี่และผลิตภัณฑ์บิสกิตของ KCG ยังมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ใน 5 อันดับแรกอีกด้วย (ข้อมูลจาก Euromonitor)
4 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ
- ขยายกำลังการผลิตพร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมายกระดับกระบวนการผลิต โดยวางแผนลงทุนเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อขยายกำลังการผลิต (Capacity Expansion) พร้อมบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ
- พัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ โดยบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาสูตรใหม่ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมและไม่ได้ทำจากนม เพื่อเป็นอาหารทางเลือกใหม่ซึ่งดีต่อสุขภาพและสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งช่วยตอกย้ำความเป็นผู้นำในการนำเสนอสินค้าสู่ตลาด (Trend Setter)
- สร้างช่องทางการจำหน่ายที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งขยายช่องทางจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมทั้งช่องทางร้านสะดวกซื้อและตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) สำหรับกลุ่มผู้บริโภค (B2C) พร้อมยกระดับการให้บริการกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ (B2B) อาทิ ผู้ให้บริการด้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร จัดเลี้ยง (HORECA) และกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ผ่านการจัดหาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร ตลอดจนขยายตลาดในต่างประเทศผ่านตัวแทนจัดจำหน่าย จากปัจจุบันที่มีการส่งออกไปแล้ว 15 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้
- ขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&A Opportunities) โดยบริษัทฯ มุ่งสร้างการเติบโตทั้งในและต่างประเทศผ่านการร่วมทุน (Joint Venture) หรือการควบรวมกิจการ (M&A) โดยเน้นธุรกิจที่มีเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์ที่เสริมศักยภาพการเติบโตให้แก่ KCG อาทิ ธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) ซึ่งเป็นธุรกิจที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) เพื่อให้เกิดการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ธวัช ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนการลงทุนในปี 2566-2567 เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ ได้แก่ การลงทุนก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า (KCG Logistics Park) เพื่อเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บและบริหารจัดการสินค้าอย่างทันสมัยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งขยายกำลังการผลิตที่โรงงานเทพารักษ์ด้วยการนำเทคโนโลยีมายกระดับกระบวนการผลิต โดยมีแผนในการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ชีส (Individually Wrapped Processed Cheese Slices) จากเดิม 2,106 ตันต่อปี ให้เพิ่มเป็น 4,212 ตันต่อปี ภายในปีนี้ และจะขยายกำลังการผลิตเนย จากในปัจจุบัน 18,596 ตันต่อปี เพิ่มเป็น 23,261 ตันต่อปี ในปี 2567 เพื่อรองรับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562-64) KCG มีรายได้รวม 5654.6 ล้านบาท 4,950 ล้านาท และ 5,265 ล้านบาท อาจลดลงบ้างในช่วงโควิด แต่หลังจากสถานการณ์โควิดเบาลง ก็สามารถทำได้รายกลับมาได้ โดยปี 2565 ถึงกันยายน 2565 มีรายได้ 4,301.9 ล้านบาท (ไม่รวมไตรมาสสุดท้าย) โดยมีสัดส่วนทั้ง B2C และ B2B เท่าๆ กัน ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิดไม่มากนัก
ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน
- การมีผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีและได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน
- มีความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรม รวมถึงมีการให้บริการแบบครบวงจร (One-stop Service)
- มีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับลูกค้า ผู้จัดหาวัตถุดิบ (Supplier) และแบรนด์ที่บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทย
- การมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย และระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
- สามารถเข้าถึงโอกาสที่เกิดจากแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ (megatrends) และความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรม
- มีผลการดำเนินงานและผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลจากการมีคณะผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ความเชี่ยวชาญ และมากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอาหารมานานกว่า 60 ปี
สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุน แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก
- ลงทุนในการก่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park
- ลงทุนซื้อเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพการผลิต
- ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
- เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
ทุนจดทะเบียนและรายละเอียดการเสนอขายหุ้น IPO
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2565 จำนวน 560 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 560 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.0 บาท โดยมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วจำนวน 390 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 390 ล้านหุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 170 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30.4 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา