กรุงไทยคาร์เร้นท์ (KCAR) ยืน 1 ธุรกิจรถเช่า-รถมือสอง เน้นเติบโตยั่งยืน บริหารความเสี่ยง-ค่าเสื่อมลงตัว

ธุรกิจรถยนต์มือสองและให้เช่ารถยนต์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไม่ง่าย เติบโตและล้มหายตายจากไปในเวลา 5-10 ปีหลายเจ้า สำหรับประเภทที่เป็น Daily Rental หรือให้เช่าชั่วคราวระยะสั้น เหมาะกับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ต้องการใช้งานเฉพาะ ถือว่าได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด นักท่องเที่ยวน้อยคนเดินทางน้อย ก็ปิดตัวกันไปพอสมควร

Car in the lifting equipment in the garage being repair and fix

ส่วนอีกประเภทคือ Operating List หรือให้เช่าระยะยาว 3-5 ปีกับลูกค้าองค์กร ตลาดแข่งขันกันสูงไม่มีกำแพงกั้น ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้เสมอ และจุดนี้เองที่มีธุรกิจเกิดและเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็เลิกกิจการไปไม่น้อยเช่นกัน

พิชิต จันทรเสรีกุล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย คาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ KCAR บอกว่า ธุรกิจรถเช่าและรถมือสอง เป็นธุรกิจที่ถ้ามีเงินทุนก็สามารถเข้ามาร่วมด้วยได้ง่าย แปลว่าการแข่งขันจะสูงมาก ซึ่งถ้าขาดความรู้ความเข้าใจ คาดการณ์ตลาดไม่ถูกต้องก็มีโอกาสปิดตัวสูงเช่นกัน มองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่เคยเป็นอันดับ 1 ตอนนี้อาจจะออกจากตลาดไปแล้ว หรือตกลงไปอยู่ต่ำกว่า Top 5

สำหรับ KCAR อาจจะไม่ใช่อันดับ 1 ในด้านยอดการให้เช่า แต่กล้าบอกว่าเป็นอันดับ 1 ที่อยู่มานานในอุตสาหกรรม ระยะเวลากว่า 30 ปี เพราะใช้กลยุทธ์การเติบโตแบบ Optimum คือ เติบโตตามจังหวะที่เหมาะสม พิจารณาทั้งรายได้ กำไร และบริหารความเสี่ยงด้วย อาจจะไม่หวือหวา แต่เป็นการเติบโตที่ยั่งยืนและปัจจุบันก็ยังไปได้ด้วยดี

ตัวอย่างที่เห็นได้คือ ช่วงที่บริการ Logistics บูมมากๆ รถกระบะเช่าเพื่อส่งของมีความต้องการสูง ผู้ให้บริการรถเช่าแบบ Operating List จำนวนมากกระโดดเข้าไปและสร้างการเติบโตได้อย่างมากในช่วง 2-3 ปีนั้นแต่ KCAR ไม่ได้เข้าไปร่วมด้วย เพราะเห็นว่าจะมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการรถกระบะหลังการเช่าหมดสัญญา

“ต้องยอมรับว่า การให้เช่ารถกระบะจำนวนมากกับบริการ​ Logistics สร้างการเติบโตอย่างมาก แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า การใช้งานรถจะหนักจริง และหลังจากนั้นพอหมดสัญญาเช่า รถกระบะกลับเข้ามาที่ผู้ให้บริการรถเช่าจำนวนมาก ก็ต้องใช้การบริหารต้นทุน บริหารค่าเสื่อมที่ยุ่งยากพอสมควร”

ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะประเทศไทยเป็นไม่กี่ประเทศในโลก ที่รถเช่าประเภทระยะยาวไม่มีการจำกัดกิโลเมตร ทำให้ควบคุมต้นทุนได้ยาก และกระทบไปถึงการขายต่อรถยนต์มือสอง เพราะจุดเริ่มต้นพัฒนามาจาก Daily Rental เมื่อไม่มีการจำกัดกิโลเมตรการใช้งาน ทำให้การขายต่อมือสองทำได้ยาก หรือเสียราคา ต้องไม่ลืมว่า ต้นทุนหลักของธุรกิจนี้คือ ค่าเสื่อม

พิชิต บอกว่า ธุรกิจรถเช่าระยะยาวส่วนใหญ่ชอบสัญญา 5 ปีเพราะมั่นใจได้ว่ามีการเช่ายาว รายได้แน่นอน แต่ที่ KCAR มองต่างออกไป โดยจะเน้นที่สัญญาเช่า 3 ปีมากกว่า เพราะบริหารความเสี่ยงและบริหารค่าเสื่อมได้ดีกว่า เมื่อครบ 3 ปี ก่อนจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกมา ก็สามารถขายต่อรถยนต์มือสองได้ ราคาดีกว่า 1-2 แสนบาทต่อคัน หรือแม้แต่รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าถ้า 5 ปีขึ้นไป ราคาจะตกมากเพราะค่าเสื่อมของแบตเตอร์รี่

mechanic working car maintenance with soft-focus and over light in the background

สำหรับภาพรวมตลาดรถยนต์มือสอง พิชิต บอกว่า ปีที่ผ่านมาถือว่าตลาดตกมากกว่า 30% แต่ปีนี้น่าจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารให้สินเชื่อรถใหม่ยาก น่าจะทำให้คนมองหารถมือสองกันมากขึ้น และราคาขายต่อรถมือสองก็น่าจะขยับดีขึ้นในช่วงปลายปี

“ถ้ามองภาพย้อนไป ช่วงโควิด รถโดนยึดเยอะมาก คนปล่อยให้รถโดนยึดไป ทำให้รถมือสองล้นตลาด ราคารับซื้อจากเจ้าของรถก็ตกลง เพราะซื้อมาก็ขายได้ยาก ปัญหาตามมาคือ รถที่ยึดมาก็ขายต่อยากอีก มาเจอการทำตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์มือหนึ่งอีก ทำให้กระทบราคาอย่างมาก แต่เชื่อว่าปลายปีนี้จะดีขึ้น”

ที่ KCAR สร้างความแตกต่างในธุรกิจรถยนต์มือสอง ด้วยการตรวจสภาพ 280 รายการ มีการรับรองคุณภาพก่อนขายต่อ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าได้รถยนต์ที่ดีใช้งานได้จริงคุ้มกับราคาที่จ่าย ถือเป็นธุรกิจที่จะเน้นมากในปีนี้ โดยจะเพิ่มช่องทางการขายแบบออนไลน์เข้ามา โดยคาดว่าจะมีรถยนต์มือสองคุณภาพดีกว่า 2,000 คันพร้อมจำหน่ายในปีนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา