KBank ประกาศแผนปี 2020 จัดการความเสี่ยงเชิงรุก รับมือยุคดิสรัปชั่น

ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (คนกลาง)

ในยุคที่อุตสาหกรรมธนาคารพบกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น จากบริษัทเทคโนโลยี หรือแม้แต่พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ทำให้ธนาคารกสิกรไทยก็เป็น 1 ในธนาคารที่ต้องปรับตัวเช่นกัน นอกจากนี้แล้วธนาคารเองยังต้องพัฒนาในด้านต่างๆ รวมไปถึงเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับองค์กร จึงเป็นที่มาของการประกาศยุทธศาสตร์ยกระดับองค์กรของตัวธนาคารเอง ภายใต้แผน 8 อย่างของธนาคาร ภายใต้ชื่องาน A STEP AHEAD FOREVER

คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า โลกเราอยู่ในยุคที่ความท้าทายเข้ามาในหลากหลายธุรกิจ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสการ Disruption รุนแรงจนทำให้ธุรกิจหลายรายล้มหายตายจากไปแต่ในทางกลับกันก็มีผู้ที่ปรับตัวสำเร็จและอยู่รอดหลายราย เช่น กรณีของหนังสือพิมพ์ New York Times ที่ปรับตัวจากโมเดลการโฆษณามาเป็นการจ่ายค่าสมาชิก และสร้างรายได้เยอะกว่าในอดีตด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าธนาคารกสิกรไทยต้องพบกับความท้าทายหลายอย่างเช่นกัน ในอดีตที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยมีชื่อเสียงปรับตัวก่อนคนอื่นเสมอๆ (A Step Ahead) ไม่ว่าจะเป็นการ Re-Engineering องค์กร ปรับขั้นตอนการทำงานต่างๆ ให้รวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2535 หรือแม้แต่วิกฤติต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 ธนาคารกสิกรไทยเป็นไม่กี่ธนาคารที่ระดมทุนจากต่างประเทศได้ทันเวลา

แต่การปรับตัวในอดีต ไม่ได้แปลว่าจะอยู่รอดได้ในอนาคต ในวันนี้ธนาคารกสิกรจึงต้องปรับตัวเองก่อนคนอื่นอีกครั้ง เดินหน้าภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่เพิ่มศักยภาพตัวเองให้เป็นธนาคารระดับภูมิภาค และลงทุนในเทคโนโลยีระดับโลก
เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดในปี 2020

ธนาคารตั้งเป้าที่จะเพิ่มอำนาจแก่ลูกค้า (Empower) ใช้ชีวิตและทำธุรกิจให้ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกค้าใช้บริการแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่าง K PLUS กับแพลตฟอร์มของพันธมิตรของธนาคารได้อย่างลื่นไหล ไม่มีสะดุด รวมไปถึงนำบริการใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมในK PLUS เช่น การแลกแต้มบัตรเครดิต หรือแต้มต่างๆ ได้เลยทันที

ในด้านเทคโนโลยี ธนาคารยังเตรียมก่อตั้งบริษัทลูก KAITAI TECH ที่เซินเจิ้น เพื่อสร้างนวัตกรรมบริการข้ามประเทศที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงการก่อตั้งบริษัท KASIKORN X เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับตัวธนาคาร และนำเทคโนโลยีต่างๆ มาให้บริการกับลูกค้าของธนาคารได้เพิ่มมากขึ้น

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นถ้าไม่มีการบริหารจัดการตัวธุรกิจธนาคารที่ดี โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ของธนาคาร ภายใต้ความเสี่ยงที่เราอาจไม่รู้ ทำให้ลูกค้าก็อาจสบายใจ หรือไม่ไว้วางใจได้ Brand Inside จะพาไปดูกันว่า ธนาคารกสิกรไทยจัดการในเรื่องนี้ได้อย่างไร

ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

คุณปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าขณะที่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการสะดวกขึ้น และทำให้ธุรกิจเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วตลอดเวลา แต่ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับธุรกิจเสมอ และไม่เคยหยุดนิ่งเช่นกัน

คุณปรีดี บอกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและความกังวลให้แก่ลูกค้าธนาคาร แบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

  1. กังวลเรื่องความปลอดภัย (Secure)
  2. กังวลเรื่องความถูกต้อง (Correct)
  3. กังวลเรื่องความน่าเชื่อถือ (Trustworthy)

ธนาคารจึงบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก (Proactive Risk Management) เพื่อ ลดความกังวลให้แก่ลูกค้าประกอบไปด้วย

1. จัดการความเสี่ยงพื้นฐานจากการให้บริการทางการเงิน (Banking Services) สถาบันการเงินในทุกยุคสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต่างก็ต้องเผชิญและรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ เช่น ในอดีตเราจะเห็นธนาคารเสียความเชื่อมั่น จนเกิดเหตุการณ์ประชาชนจำนวนมากแห่ไปถอนเงิน หรือกรณีการปฏิบัติงานผิดพลาดของธนาคาร รวมไปถึงการทุจริต ที่เห็นตามข่าวอยู่บ่อยครั้ง

เพื่อป้องกันความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้ ธนาคารกสิกรไทยมีมาตรการรักษาความมั่นคงทางการเงินไว้ เพื่อให้ธนาคารยังคงอยู่ได้ โดยธนาคารมีสัดส่วนเงินกองทุนที่สูงถึง 171% ของหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมไปถึงมีสัดส่วนด้านสภาพคล่องถึง 188% ของหลักเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของธนาคารไทย

นอกจากนี้ธนาคารเองยังทดสอบการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น อาจทำให้ประชาชนจำนวนมากแห่ไปถอนเงิน หรือ การเกิดขึ้นกฎระเบียบใหม่ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงในด้านเงินกองทุนหรือสภาพคล่องอยู่เสมอๆ เพื่อให้ธนาคารปกป้องเงินฝากและเงินลงทุนของลูกค้าไว้ได้ แม้เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ และมีสภาพคล่องที่พร้อมจะบริการธุรกรรมต่างๆ ตลอดเวลา

2. จัดการความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากบริการที่เป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ธนาคารต้องบริหารจัดการหลังจากที่ตัวธนาคารเพิ่มบริการที่เป็นดิจิทัล เช่น ความไม่เสถียรของการให้บริการ เรื่องของภัยบนโลกไซเบอร์ การแฮ็กระบบ จนไปถึงความเสี่ยงของข้อมูลของลูกค้า ธนาคารกสิกรไทยจึงมีการจัดการตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยสากล รวมไปถึงมีการอบรมพนักงานผ่านโครงการ Cyber DNA เพื่อปกป้องภัยด้านไซเบอร์

นอกจากการป้องกันพื้นฐานแล้ว ธนาคารยังนำเทคโนโลยีด้าน AI และ Machine Learning มาใช้ตรวจจับความผิดปกติในบริการดิจิทัลต่างๆ ส่งผลให้ธนาคารได้รับรางวัล VISA Champion Security Award ประจำปี 2019 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก Visa เนื่องจากอัตราส่วนรายการทุจริตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราส่วนที่ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นและค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการเงินประเทศไทย

3. จัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Integration) ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายการเป็นพลเมืองที่ดีของโลก เพื่อสร้างผลลัพธ์และคุณค่าที่ยั่งยืนแก่สังคมและประเทศชาติ ด้วยการดำเนินงานบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อมและสังคม

คุณปรีดี กล่าวว่าก่อนหน้านี้ ธนาคารเองยึดถือหลักนี้มาตลอด แต่ในปีนี้จะเน้นย้ำในเรื่องของ ESG (Environmental, Social, and Governance) มากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมธนาคารเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นอีกทาง

มาตรการด้าน ESG ของธนาคารกสิกรไทย มีตั้งแต่ไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจที่สร้างผลกระทบทางลบต่อสังคม แต่สนับสนุนสินเชื่อให้ธุรกิจที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น สินเชื่อพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในสังคม รวมไปถึงออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน ฯลฯ เพื่อที่จะสนับสนุนโครงการดีๆ ให้เกิดขึ้น

นโยบายนี้ทำให้ธนาคารกสิกรไทยติดดัชนีความยั่งยืน DJSI ของดาวโจนส์ เป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่ประเมินประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจระดับโลกถึง 4 ปีติดต่อกัน รวมไปถึงดัชนีความยั่งยืนจากสถาบันอื่น เช่น MSCI หรือ FTSE ฯลฯ สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนด้วย

สิ่งที่ธนาคารทำทั้งหมดนี้ เพื่อให้ลูกค้าเพิ่มอำนาจให้ลูกค้าในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจอย่างไร้ความกังวล และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับลูกค้าเสมอๆ รวมไปถึงนักลงทุนของธนาคารกสิกรไทยมีความสบายใจเพราะธนาคารมีการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่ง น่าเชื่อถือ รวมไปถึงสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา