อีกก้าวของโลกการเงิน! KBank จับมือจุฬาฯ-NECTEC พัฒนา AI ที่เข้าใจภาษาไทย เพื่อยกระดับธุรกิจ

ปัจจุบัน AI หรือ Artificial Intelligence เข้ามามีบทบาทกับผู้บริโภค และองค์กรมากขึ้น ทำให้ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ร่วมมือกับจุฬาฯ และ NECTEC เพื่อพัฒนา AI ให้เข้าใจภาษาไทย และนำมาใช้ยกระดับธุรกิจได้จริง

kbank

Thai NLP กับอนาคตของโลกการเงินไทย

AI นั้นมีหลากหลายแขนง หนึ่งในนั้นคือ NLP (Natural Language Processing) หรือโปรแกรมการประมวลผลทางภาษาธรรมชาติ ถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็คือการพัฒนา AI ให้เข้าใจภาษานั้นๆ ซึ่งไทยเองก็มีโครงการ Thai NLP แล้ว และเพื่อให้การพัฒนาเรื่องนี้ขึ้นไปอีกขั้น KBank จึงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ

ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC โดยการเข้ามาของ KBank จะทำให้การพัฒนา Thai NLP มีความสามารถด้านภาษาไทยที่เกี่ยวกับการธนาคาร และธุรกิจ แถมปัจจุบันก็มีการใช้งานจริงแล้วด้วย

kbank
ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

“การพัฒนา AI ให้เรียนรู้ภาษาไทยเกี่ยวกับการธนาคาร และธุรกิจจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้ร่วมมือกับจุฬาฯ และ NECTEC เพราะเรามีแค่ความเชี่ยวชาญด้านธนาคาร แต่ทางจุฬาฯ มีเรื่องภาษา และ NECTEC ก็เก่งเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้มันเกื้อหนุนกัน” ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าว

ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เพราะทุกคนต่างก็มีของ

ก่อนหน้านี้ Thai NLP มีการพัฒนาไปบ้างแล้วโดย NECTEC แต่อาจไม่ได้เจาะความเข้าใจเป็นเรื่องๆ ไป และ KBank กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ตนเองรู้ การพัฒนาตัว Thai NLP ที่เก่งเรื่องภาษาการธนาคาร และธุรกิจ จึงไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ และเดินหน้าพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

kbank

สำหรับการปรับใช้งาน Thai NLP ของ KBank จะเริ่มต้นด้วยการทำแบบสำรวจเรื่องต่างๆ ของลูกค้า เพราะก่อนหน้านี้การทำแบบสำรวจหนึ่งครั้งใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่เมื่อมี Thai NLP ก็ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความรวดเร็วในการทำแบบสำรวจ และแก้ปัญหาเรื่องที่ลูกค้าต้องการได้ดีกว่าเดิมนอกจากนี้ KBank ได้มีการนำ Thai NLP ไปใช้งานเป็น Chat Bot อัจฉริยะ เพื่อตอบโต้บนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ให้บริการในช่องทางออนไลน์อีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อ Thai NLP สามารถพัฒนาให้คอมพิวเตอร์ฉลาดและแม่นยำยิ่งขึ้น ธนาคารจะมี Virtual Assistant ที่จะสามารถเป็นเพื่อนกับลูกค้าคอยช่วยเหลือลูกค้าให้ได้รับบริการที่เกินความคาดหวัง และได้รับความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งของธนาคารและธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกมากมาย อาทิ ใช้ในการช่วยวิเคราะห์และจัดการเอกสาร และองค์ความรู้ของธนาคาร ช่วยคัดกรองผู้สมัครเข้าทำงานกับธนาคาร สรุปเนื้อหาสำคัญที่จำเป็นต่อการอนุมัติสินเชื่อออกมาจากเอกสารประกอบการขอสินเชื่อรวมทั้งนำไปใช้ในการตรวจสอบเอกสารสัญญาและธุรกรรมต่าง ๆ ได้ในอนาคต

kbank
รองศาสตราจารย์ ดร. วิโรจน์ อรุณมานะกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ และผู้อำนวยสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงมหาวิทยาลัย

ยกระดับข้อมูลด้วยการเปิดกว้างการใช้งาน

“เพื่อให้ AI นั้นมีความเข้าใจเรื่องภาษาการธนาคาร และธุรกิจ Data หรือข้อมูลก็ต้องมีมากกว่านี้ เราจึงพร้อมเปิดให้องค์กรอื่นๆ เข้ามาเชื่อม API เพื่อใช้งาน AI ตัวนี้ได้ด้วย เพราะเมื่อมีคนมาใช้เพิ่ม Data ก็เพิ่มขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร. วิโรจน์ อรุณมานะกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ และผู้อำนวยสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงมหาวิทยาลัยย กล่าว

แม้ปัจจุบันการประยุกต์ใช้งาน Thai NLP ของ KBank ยังอยู่ในขั้นอ่านตัวอักษรจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ แต่ในอนาคตหากมีข้อมูลมากขึ้น การพัฒนาให้ AI สามารถเข้าใจคำพูดของภาษาไทยได้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ หลายภาคส่วนก็ต้องพร้อมใจกันลงทุน และเปิดกว้างการใช้งาน Thai NLP

kbank

ทั้งนี้การทำงานของ Thai NLP นั้น เบื้องต้น AI จะแยกคำศัพท์ต่างๆ ในประโยคออกมาก่อน เพราะภาษาไทยนั้นเขียนติดกัน ต่างกับภาษาอังกฤษที่มีการเว้นวรรค จากนั้น AI จะดูว่าคำเหล่านั้นเป็นคำประเภทไหน ก่อนจะปรับคำศัพท์ที่เขียนผิดเป็นเขียนถูก และสุดท้ายนำมาเรียงประโยคเพื่อวิเคราะห์เป็นคำตอบ

สรุป

Thai NLP เป็นอีกก้าวสำคัญของวงการธนาคาร และเทคโนโลยีไทยอย่างแน่นอน เพราะเมื่อ AI มีความเข้าใจภาษาไทย มันก็ช่วยลดต้นทุน และขั้นตอนต่างๆ ออกไปได้มาก ที่สำคัญคือผู้บริโภคก็สะดวกกว่าเดิม ดังนั้นต้องคอยจับตากันว่า Thai NLP จะพัฒนาไปได้ถึงขั้นที่ถอดคำพูดภาษาไทยจากมนุษย์ได้เลยหรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์