ขึ้นรถไฟไม่ต้องใช้เงินสด! KBank จับมือการรถไฟ ให้จ่ายผ่าน QR Code พร้อมใช้ใน 56 สถานี

ต่อจากนี้ไป ขึ้นรถไฟไทยไม่ต้องพกเงินสดอีกแล้ว เพราะธนาคารกสิกรไทยจับมือกับการรถไฟไทย ส่งเครื่องรับชำระเงินด้วย QR Code พร้อมให้บริการใน 56 สถานีทั่วประเทศ

รถไฟไทยยุคใหม่ ไม่ใช้เงินสด จ่ายผ่าน QR Code

การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย แถลงข่าวเปิดตัวรับชำระเงินค่าตั๋วรถไฟด้วย QR Code ผ่านเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ ประกาศร่วมสร้าง “สังคมรถไฟยุคใหม่ ไม่ใช้เงินสด”

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ ระบุว่า การนำเอา QR Code เข้ามาใช้ในครั้งนี้เป็นการอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งรองรับสังคมไร้เงินสดในอนาคต โดยก่อนหน้านี้ผู้บริโภคสามารถชำระค่าโดยสารผ่านบัตรวีซ่า และมาสเตอร์การ์ดเท่านั้น

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้พัฒนาการใช้ QR Code เพื่อชำระค่าตั๋วให้กับระบบขนส่งมวลชนมาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งเครื่องบิน เรือ และรถสาธารณะ ล่าสุด จึงตัดสินใจมาทำในส่วนของรถไฟ เพราะถือเป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนที่อยู่คู่คนไทยมานาน นอกจากนี้ การชำระค่าตั๋วรถไฟด้วย QR Code ยังช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการให้กับการรถไฟ และช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ อีกด้วย

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ และ นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมเป็นประธานในงานแถลงข่าว
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ และ นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมเป็นประธานในงานแถลงข่าว

พร้อมให้บริการใน 56 สถานีทั่วประเทศ

การชำระเงินผ่าน QR Code ในสถานีรถไฟไทยจะมีการติดตั้งทั้งหมด 140 เครื่อง และพร้อมให้บริการใน 56 สถานีหลักทั่วประเทศ เช่น สถานีกรุงเทพ เชียงใหม่ อุบลราชธานี หนองคาย ชุมทางหาดใหญ่ ชุมพร เป็นต้น ส่วนในอนาคตจะมีการทยอยติดตั้งเครื่องรับบัตรอัตโนมัติเพิ่มเติม เพื่อรองรับการใช้บริการให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น
จากสถิติระบุว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟทั่วประเทศทั้งชาวไทยและต่างชาติมีประมาณ 2.4 ล้านคนต่อเดือน หรือราว 80,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะหลังการก่อสร้างระบบขนส่งทางรางที่จะแล้วเสร็จในอนาคต ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นรถไฟที่มีความทันสมัยมากขึ้น
  • ในปัจจุบันผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังคงนิยมชำระค่าตั๋วรถไฟด้วยเงินสดกว่าร้อยละ 92
  • มีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่ชำระด้วยบัตรเครดิต
  • ดังนั้น รูปแบบการชำระเงินด้วย QR Code จึงมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะเป็นบริการที่ตอบรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค

ที่มา – ข่าวประชาสัมพันธ์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา