เปิดงบ “กสิกรไทย” Q1/62 กำไรสุทธิลด 6.7% NPL ขยับขึ้นแตะ 3.44% เพราะอะไร?

ผ่านสิ้นเดือนมี.ค. มาพักใหญ่ถึงเวลาประกาศผลประกอบการภาคธนาคารแล้ว ธนาคารกสิกรไทยไตรมาสนี้เป็นอย่างไร?

ภาพจาก Shutterstock

กสิกรไทยรับกำไรสุทธิหดตัวผลจากรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง

ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาส 1 ปี 2562 ปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,044 ล้านบาท ลดลง 6.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ที่มีใช่ดอกเบี้ยลดลง 19% มาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง

แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.57% มาจากรายได้ดอกเบี้ยที่ปล่อยสินเชื่อ และเงินลงทุน ปัจจุบันอัตราส่วนต่างรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 3.32% 

นอกจากนี้ไตรมาส 1 ปี 2562 หนี้เสีย (NPL) ของธนาคารอยู่ 3.44% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3.34% เนื่องจากการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์โดยขายหนี้ออกมาบางส่วน แต่น่าจะส่งผลดีในระยะยาว ขณะเดียวกันอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ระดับสูงที่ 42.70%

ทั้งนี้ วันที่ 31 มี.ค. 2562 ธนาคารและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,150,641 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2561 จำนวน 4,450 ล้านบาท หรือ 0.14% ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ ในขณะที่เงินลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้น อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 158.78% 

“แม้ไตรมาส 1 เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ภาพรวมยังได้รับแรงกดดันจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่อ่อนแอ ขระที่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวทำให้ภาคธุรกิจังต้องเจอเรื่องท้าทายจากการแข่งขันรูปแบบใหม่ๆ การเปลี่ยนกฎเกณฑ์ เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ”

สรุป

ไตรมาส 1/2562 รายได้แบงก์ลดลงเพราะไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมหลายอย่างทั้งการโอนเงิน และธุรกิจขายประกันผ่านแบงก์ที่โตลดลง แต่จากที่แบงก์ลงทุนเทคโนโลยีมากขึ้น หลังจากนี้จะเห็นแบงก์หารายได้จากฐานลูกค้าเดิมได้แน่นอน ซึ่งหลายแบงก์ยอมรับว่ารายได้จากแต่ละผลิตภัณฑ์อาจจะลดลง ดังนั้นแบงก์ต้องใช้ฐานลูกค้าปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพที่สุดและชิงส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าอื่นด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง