ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ เนื้อหมู ปี 2565 จะมีราคา 190-220 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2564 ทำให้ผู้บริโภคหันบริโภคเนื้อสัตว์อื่น จนราคาเนื้อไก่, ผัก และน้ำมันพืช เตรียมปรับตัวขึ้นตามราคาเนื้อหมู
เนื้อหมู 190-220 บาท/กก. แน่นอน
จากบทวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2564 ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโรค COVID-19 และเริ่มสัญญาณการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ผ่านราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี หรือมีราคา 200 บาท/กก. และอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
ปัจจัยที่ทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน โดยหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้เกิด Pent-up demand ประกอบกับมีความต้องการบริโภคเนื้อหมูในช่วงเทศกาลปลายปี ขณะที่ปริมาณเนื้อหมูมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยมีสาเหตุมาจาก
- ปัญหาโรคระบาดในสุกรที่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้จำเป็นต้องกำจัดสุกรที่มีความเสี่ยงจำนวนมากเพื่อควบคุมโรค ยิ่งกดดันให้ปริมาณสุกรขาดตลาดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโรคดังกล่าวยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยารักษาโรค
- ต้นทุนการผลิตเนื้อหมูปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และต้นทุนค่าอาหารสัตว์ซึ่งคิดเป็นกว่า 70% ของต้นทุนทั้งหมดก็ปรับเพิ่มขึ้น โดยวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงขึ้นตามค่าขนส่งและยังต้องเสียภาษีนำเข้า
- เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร โดยเฉพาะรายย่อยลดการเลี้ยงสุกรลง บางส่วนปิดกิจการหรืออาจจะยังไม่มีความมั่นใจที่จะกลับมาเลี้ยงสุกรเต็มกำลัง ประกอบกับในช่วงก่อนหน้าภาครัฐขอให้ตรึงราคาเนื้อหมูไว้ เกษตรกรจึงต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมากและเกิดภาวะขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง
จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ราคา เนื้อหมู (เนื้อแดง) ในช่วงครึ่งแรกปี 2565 จะยังยืนสูง และอาจปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน และช่วงเทศกาลสงกรานต์ และจะเริ่มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี โดยราคาทั้งปีอาจอยู่ในกรอบ 190-220 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2564
หมูเขียง-ร้านอาหาร-ผู้บริโภค กระทบหมด
การเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อหมูส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งผู้ประกอบการขายปลีกเนื้อหมู (หมูเขียง) โดยเฉพาะรายย่อย ผู้ประกอบการร้านอาหาร ตลอดจนส่งผ่านมายังผู้บริโภคทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ผู้ประกอบการขายปลีกเนื้อหมู (หมูเขียง) โดยเฉพาะรายย่อยที่มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 รายทั่วประเทศไม่สามารถแบกรับต้นทุน และไม่สามารถแข่งขันราคาได้เหมือนผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงผู้บริโภคบางรายอาจเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่นที่ราคาถูกกว่าทำให้ขายได้ปริมาณน้อยลงจนอาจทำให้จำเป็นต้องปิดกิจการ
- ผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารที่ใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น ร้านชาบู-หมูกะทะ เป็นต้น จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะเจอกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงอีกทำให้หลายรายจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาอาหาร แต่คาดว่าคงเพิ่มราคาได้ในกรอบจำกัด เพราะการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจร้านอาหารมีค่อนข้างสูง
- ผู้บริโภคจะต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยผู้บริโภคมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายอาหารสดต่อคนต่อเดือนราว 50% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอาหารทั้งหมด ซึ่งส่วนนี้ผู้บริโภคจะต้องแบกรับราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นโดยตรงหากไม่มีทางเลือกในการหันไปหาอาหารประเภทอื่น
ทั้งนี้ จากราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อื่นๆ ทดแทน ซึ่งจะผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารอื่นๆ เช่น ผัก น้ำมันพืชก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า จากราคาเนื้อสัตว์ (เนื้อหมู และเนื้อไก่) และวัตถุดิบอาหารที่สำคัญอื่นๆ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น น่าจะกดดันให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคต่อคนต่อเดือนในปี 2565 เพิ่มขึ้นราว 8-10% ซึ่งส่วนนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่ก็เริ่มมีสัญญาณปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ค่าเดินทาง เป็นต้น สวนทางกับรายได้ครัวเรือนที่ยังคงเปราะบางซึ่งสะท้อนถึงกำลังซื้อครัวเรือนที่น่าจะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก
อ้างอิง // ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
อ่านข่าวเกี่ยวกับเนื้อหมู และเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่นี่
- ขึ้นทุกร้าน! ชาบูบุฟเฟ่ต์ร้านดังขึ้นราคากว่า 10% ต้นทุนเนื้อหมู-น้ำมันพุ่ง แถมต้องกัน COVID-19
- เมนูหมูอยู่ไม่ไหว! หมูทอดเจ๊จง ขึ้นราคาเป็น 300 บาท/กก. คอหมูพระราม 5 ขอขายเมนูไก่แทน
- อยุธยามี ร้านมิชลิน แล้ว! เปิดรายชื่อร้านอาหารรางวัลมิชลินประจำปี 2022
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา