ธนาคารกสิกรไทย แต่งตั้งให้กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เป็นประธานกรรมการ และขัตติยา อินทรวิชัย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ซึ่งทั้งสองถือเป็นผู้หญิงคนแรกของธนาคารที่ดำรงตำแหน่งนี้ มีผลตั้งแต่ศุกร์ที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระของธนาคารกสิกรไทยมาก่อนในปี 2554-2557 และกลับมาเป็นอีกครั้งในปี 2561 โดยมีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการด้วย กอบกาญจน์ ยังเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทโตชิบา ประเทศไทย
ขณะที่ ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เริ่มทำงานกับธนาคารกสิกรไทยตั้งแต่ปี 2530 เป็นนักเรียนทุนของธนาคารกสิกรไทย ผ่านเหตุการณ์ตั้งแต่ยุค Re-Engineering ปี 2535 และวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 จนถึงยุคปัจจุบัน ก่อนหน้านี้เป็น 1 ใน 4 กรรมการผู้จัดการของธนาคาร และได้โปรโมทมาเป็นตำแหน่งซีอีโอ
ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยจัดงานแถลงข่าว Live เปิดตัวผู้บริหารทั้งสองราย ที่มาอธิบายวิสัยทัศน์ของธนาคารกสิกรไทยในยุคถัดไป
กอบกาญจน์ชี้ เศรษฐกิจชะลอตัวจาก COVID-19 เป็นความท้าทายสำคัญ
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย มองว่า ภาพเศรษฐกิจโดยรวมของโลกมีสัญญาณการชะลอตัวลงจากปัจจัยหลายอย่าง การดิสรัปของเทคโนโลยีก็สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างมาก สะเทือนทุกธุรกิจ ธนาคารจำต้องปรับตัวอย่างเข้มข้น ทำอย่างไรให้ธนาคารยังคงมีความหมาย ทำยังไงให้ลูกค้าขยายธุรกิจต่อได้
เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกล้วนเผชิญความยากลำบากอย่างยิ่งจาก COVID-19 ส่งผลกระทบต่อคนทุกชนชั้น การติดเชื้อ COVID-19 ยังคงเพิ่มขึ้น สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน GDP ไทยปีนี้ ติดลบ 5% หากสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ในเดือนมิถุนายน ความหวังของปีนี้อยู่ที่การลงทุนของภาครัฐที่จะโตได้ 3.3% ซึ่งภาครัฐต้องเร่งโครงการต่างๆ ออกมาให้ได้ภายในปีนี้
ธนาคารกสิกรไทยจะเร่งรัดช่วยเหลือลูกค้าหลากหลายช่องทาง เพราะธนาคารเป็นตัวจักรสำคัญในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของไทย นอกจากการฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในระยะสั้นแล้ว ธนาคารจะยืนหยัดเป็นสถาบันทางการเงินชั้นนำของประเทศ เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระยะยาว
ในฐานะประธานบอร์ด กอบกาญจน์ประเมินศักยภาพธนาคารกสิกรไทยแล้วมั่นใจว่ายังแข็งแกร่ง และเชื่อมั่นว่าฝ่ายบริหารจัดการจะสามารถก้าวพ้นวิกฤต COVID-19 เพื่อรองรับดิสรัปชั่นใหม่ๆ ในอนาคตได้
กอบกาญจน์ มองว่าคณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดนโยบายให้ฝ่ายบริหาร และทำให้ธนาคารมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี สิ่งแรกที่ทำในฐานะประธานคณะกรรมการ คือบริหารความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายบริหาร โดยที่ทำงานร่วมกันราบรื่น แต่ยังต้องมีความอิสระต่อกัน
ธนาคารกสิกรไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสรรหาบุคคลชั้นนำเข้ามาร่วมงาน โดยอิงความหลากหลาย (diversity) ในทุกด้าน เพื่อให้มีส่วนผสมที่ครบทุกมุมมอง ในแง่ความหลากหลายทางเพศ ธนาคารถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะอัตราส่วนของบอร์ดนี้ มีผู้หญิงมากถึง 7 คนจาก 17 คน และมีคณะกรรมอิสระ 9 คน ถือว่าเกินครึ่งของบอร์ดด้วย แสดงให้เห็นว่าธนาคารมีความเป็นมืออาชีพ และมีมาตรฐานสูง
ขัตติยา ยอมรับขึ้นเป็นซีอีโอในช่วงเวลาท้าทาย แต่พร้อมพาลูกค้าฝ่าวิกฤตไปด้วย
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มองว่าการขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงนี้ ท้าทายมาก ทั้งภัยแล้ง ทั้งภาวะวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ทั้งการดิสรัปชัน รวมถึง COVID-19
ขัตติยามองว่าธนาคารมีหลายบทบาทที่ต้องรับผิดชอบ สิ่งแรกคือการดำเนินธุรกิจที่ต้องมีผลประกอบการดี ขณะเดียวกันก็ต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุดด้วย อย่างที่สองคือธนาคารต้องเป็นฟันเฟืองสำคัญ เพื่อให้ระบบการเงิน–การธนาคารของไทยเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจในช่วงนี้
ยุทธศาสตร์ของธนาคารยังยึดสิ่งที่แถลงไปตอนต้นปี คือ Empower Every Customer’s Life and Business การเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า ธนาคารกสิกรไทยจะอ่านเกมอนาคตให้ออก ดักทางให้ได้ เพื่อจะได้พาลูกค้าผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตครั้งนี้ต่างออกไป เพราะอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวอยู่แล้ว ภาระหนี้ไม่สูง และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมาเร็วกว่าครั้งที่แล้ว แต่ก็มีปัจจัยลบที่ เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หนี้ครัวเรือนของเราค่อนข้างสูง และยังมาเจอโควิด-19 ซ้ำอีก
ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ NPL เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ เรื่อง NPL เราติดตามอย่างใกล้ชิดและคาดการณ์อนาคตตลอดเวลา
ขัตติยาเน้นว่า ทางธนาคารไม่มีมีนโยบายลดพนักงาน เรารู้ว่าสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ เราจะดูแลให้ทั้งพนักงานและลูกค้าปลอดภัยด้วย
ขัตติยายังเล่าวิธีการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา ถือหลักว่า “โชคดี” ไม่มีหรอก “Luck is What Happens When Preparation Meets Opportunity” เราต้องเตรียมความพร้อมเสมอ ไม่หยุดเรียนรู้ ไม่มีใครแก่เกินเรียน ทุกวันนี้แม้มีภารกิจในฐานะซีอีโอ แต่ขัตติยายังแบ่งเวลามาเรียนออนไลน์ ทั้งเรื่อง Design Thinking ที่เป็นทักษะใหม่ และเรียนภาษาจีน เพื่อเตรียมออกไปทำตลาดจีนด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา