Blockchain เป็นหนึ่งในบริการสมัยใหม่ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ทั่วโลก โดยเชื่อว่าเป็นเครื่องมือที่จะเปลี่ยนโลกไปจากเดิม เหมือนที่ครั้งหนึ่ง Internet เคยทำมาแล้ว
สำหรับในประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เป็นสถาบันการเงินกลุ่มแรกๆ ที่ประกาศเริ่มต้นนำ Blockchain มาใช้งาน โดยเลือกใช้ในบริการหนังสือค้ำประกันสำหรับองค์กร โดยใช้ชื่อว่า Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain
Letter of Guarantee บน Blockchain สร้างมิติใหม่บริการ
พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ KBank บอกว่า บริการหนังสือค้ำประกันมีคาดการณ์ว่ามีมูลค่ากว่า 1.35 ล้านล้านบาทในปีนี้เป็นมูลค่าที่สูงมาก โดยเป็นสัดส่วนของ KBank กว่า 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งการใช้ Blockchain เข้ามาช่วย ทำให้ขั้นตอน เวลาและต้นทุนลดลง ขณะที่ความปลอดภัยสูงขึ้น
บริการ Letter of Guarantee ของ KBank ได้ทดสอบร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในระบบ Regulatory Sandbox เพื่อตรวจสอบว่าบริการมีเสถียรภาพ ใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
หลังจากทำการทดสอบ ทำให้พบว่ามีประโยชน์ต่อธุรกิจใน 6 ด้าน คือ
- ความปลอดภัย ที่มากขึน้ มีการจัดเก็บข้อมูลบนมาตรฐานเดียวกัน ตรวจสอบสถานะได้ตลอดเวลา
- ความเร็ว ลดขั้นตอนเอกสารเหลือ 30 นาที
- ลดต้นทุน ประหยัดจากการจัดการเอกสารลง 2 เท่า
- เพิ่มประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้เร็วขึ้น
- ข้อมูลรวมศูนย์ ข้อมูลทั้งหมดอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มของ Blockchain เดียวกัน
- สร้างโอกาสทางธุรกิจ จากความสะดวกและรวดเร็ว
สำหรับการออกหนังสือค้ำประกันของ KBank ปัจจุบันออกผ่านสาขา 80% ออกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 20% ตั้งเป้าว่าในสิ้นปี 2561 จะเพิ่มสัดส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็น 35% โดยจำนวนนี้ เป็นการทำผ่าน Blockchain ที่ 5%
เริ่มใช้ Letter of Guarantee เชิงพาณิชย์ผ่าน Blockchain รายแรกของโลก
KBank ร่วมกับ IBM ในการนำเทคโนโลยี Blockchain สร้างระบบต้นแบบใช้รับรองเอกสารต้นฉบับ นอกจากนี้ ยังได้ทำการทดสอบบริการบน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย และจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล และ บจก.พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง ร่วมพัฒนาบริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยี Blockchain (Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain)
กลุ่มบริษัทพันธมิตร ถือเป็นบริษัทที่มีคู่ค้าและมีการใช้หนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนมาก ถ้าสามารถอยู่บนมาตรฐานเดียวกันจะเพิ่มประสิทธิภาพได้มหาศาล และนี่ถือเป็นครั้งแรกของโลก ที่มีการใช้หนังสือค้ำประกันเชิงพาณิชย์ บน Blockchain ครั้งแรกของโลก
“พันธมิตรทุกรายใช้บริการหนังสือค้ำประกันกับ KBank อยู่แล้ว ดังนั้นการชวนมาร่วมใช้บริการผ่าน Blockchain ซึ่งถือว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และเป็นมูลค่าต่อธุรกิจของประเทศอย่างสูง”
สำรวจความเห็นพันธมิตรกลุ่มแรกใช้บริการ Blockchain
ชินเสณี อุ่นจิตติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ บัญชีและการเงิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. บอกว่า กฟภ. มีการใช้หนังสือค้ำประกันกว่า 70,000 ฉบับ โดยกว่า 20% เป็นบริการของ KBank โดยไฟฟ้าเป็นบริการรูปแบบใช้ก่อน จ่ายเงินทีหลัง ดังนั้นลูกค้าองค์กรต้องมีการใช้หนังสือค้ำประกันเพื่อรับรองว่าจะมีการจ่ายค่าบริการ
ปัญหาที่พบคือ มีลูกค้าทั่วประเทศ ทำให้ตรวจสอบหนังสือค้ำประกันยาก หมดอายุ หรือหนังสือปลอม การใช้ Blockchain ช่วยลดการจัดเก็บและตรวจสอบเอกสาร
สารนิต อังศุสิงห์ รองผู้ว่าการเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสาร การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. บอกว่า การขอใช้ไฟฟ้า จำเป็นต้องมีหนังสือค้ำประกัน ซึ่งต้องใช้เวลาหลายวัน และมีเอกสารเก็บไว้จำนวนมาก จนต้องเช่าโกดังจัดเก็บ และเวลาจะใช้ต้องเสียเวลาค้นหา การใช้ Blockchain จะช่วยได้มาก
นอกจากนี้ ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการลงทุนงานต่าง ต้องใช้งบประมาณมหาศาลต่อปี หนังสือค้ำประกันผ่าน Blockchain ช่วยทั้งความสะดวก ปลอดภัยและลดต้นทุนได้มาก
ณรงค์ชัย พิสุทธิ์ปัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด หรือ PTTPM บอกว่า บริษัทใช้หนังสือค้ำประกันประมาณ 300 ฉบับ แต่ละฉบับหมดอายุไม่พร้อมกัน และหลายฉบับหาไม่เจอ การจัดเก็บแบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยเรื่องนี้ได้มาก และยิ่งเก็บเป็น Blockchain ยิ่งช่วยได้มากขึ้นกว่าเดิมอีก
สรุป
ส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ Blockchain มีการใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จริง นอกจาก KBank ที่มีทีมงานกว่า 150 ชีวิตทำงานตั้งแต่เริ่มต้น และพันธมิตรที่เริ่มต้นใช้งาน อีกส่วนที่สำคัญมาก คือ Regulator หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้ทดสอบบริการ และถือเป็นโครงการแรกใน Regulatory Sandbox ซึ่งหากสุดท้ายมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย กว้างขวาง จะยิ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประเทศโดยรวม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา