ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.5%YoY ทำให้ 9 เดือนแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% YoY ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับมุมมองทั้งปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 2.5%YoY ลดลงจากที่ประมาณการไว้ก่อนหน้าที่ 3.0%YoY
ทั้งนี้ สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์มาจาก ภาคการส่งออกที่หดตัว (แม้จะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า) และการอุปโภคของภาครัฐที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ COVID-19 ที่ลดลง ในไตรมาสนี้มีปัจจัยบวกหลักคือการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 นี้ คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากฤดูกาลท่องเที่ยวเป็นหลัก และคาดว่ามาตรการบรรเทาค่าครองชีพจากทางภาครัฐคงจะช่วยหนุนการบริโภคในประเทศให้ยังขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังคาดว่าการส่งออกไทยจะกลับมาเป็นบวกเนื่องจากฐานที่ต่ำในปี 2565
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มองว่าจะฟื้นตัวดีกว่าปี 2566 โดยมีแรงหนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่แม้แรงส่งจะลดลงในปีหน้า ขณะเดียวกันมองว่าภาคการส่งออกจะกลับมาเติบโตเป็นบวก นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศให้ยังขยายตัวได้ (รายละเอียดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเปิดเผยในวันที่ 12 ธ.ค. 2566 นี้)
ขณะที่ด้าน Krungthai COMPASS จากธนาคารกรุงไทยระบุว่า สาเหตุที่ GDP ไทยไตรมาส 3 ปี 2566 เติบโตที่ 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัว รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ยังคงหดตัว ส่งผลให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เติบโตเพียง 2.5% แตะขอบล่างของกรอบประมาณการเดิมที่ 2.5-3.0%
อย่างไรก็ตามมองว่า เศรษฐกิจปี 2567 มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวในปีหน้า ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว Krungthai COMPASS คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 จะแตะราว 35 ล้านคน สอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์
ทั้งนี้ ปี 2567 Krungthai COMPASS ประเมินว่า เศรษฐกิจในปีหน้ายังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจหลักฝั่งตะวันตกจะถูกกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่ความล่าช้า พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 จะกระทบการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐในปีหน้า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวของ GDP
นอกจากนี้ ด้าน วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปิดเผยว่าเตรียมปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 2566 ลดลงจากระดับ 2.8% เนื่องจาก
1) ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 66 ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดและวิจัยกรุงศรีคาดการณ์ไว้ (ประมาณการไว้ที่ 2.4%)
2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยอาจต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 28.5 ล้านคน ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 22.2 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจาก
- ฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนแล้ว
- แรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพทั้งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการเดินทาง รวมถึงมาตรการพักหนี้เกษตรกร
- การกระเตื้องขึ้นของภาคส่งออกในช่วงปลายปี
- การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าและความเป็นไปได้ของโครงการ Digital wallet ที่ยังต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมาย
ขณะที่งานแถลงข่าวของสภาพัฒน์เมื่อวานนี้ (20 พ.ย. 66) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวไว้ว่า สภาพัฒน์คาดว่า ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตในช่วงประมาณการ 2.7%-3.7% (ค่ากลางที่ 3.2%) ยังไม่รวมผลจากโครงการ Digital Wallet ว่าจะใช้วงเงินรวมเท่าไร โดยขณะนี้ต้องรอคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา และย้ำว่าเศรษฐกิจไทยต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ในหลายภาคส่วนเพื่อให้การเติบโตสูงกว่าระดับเฉลี่ยในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
ที่มา ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, สภาพัฒน์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา