เวลาการการเน้นตลาดในประเทศด้วยการโปรโมท K Plus Shop กระตุ้นให้ร้านค้าเปิดรับชำระเงินด้วย QR Code แบบยิงปิ๊บจ่ายปั๊บ ตามนโยบาย National Payment แล้ว ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ยังเดินหน้าลงทุนต่างประเทศไปพร้อมกัน โดยหวังเป็นฐานรองรับการค้าการลงทุน
มุ่ง Digital Banking SME รองรับยุทธศาสตร์ AEC+3
ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ของ KBank บอกว่า KBank มีเป้าหมายเป็นธนาคารแห่ง AEC+3 เพื่อรองรับการค้าการลงทุนของลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศในอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยล่าสุดได้เข้าลงทุนถือหุ้นใน ธนาคารแมสเปี้ยน (Bank Maspion) ในอินโดนีเซีย สัดส่วน 9.99%
ธนาคารแมสเปี้ยน ถือเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนระดับ BUKU2 เน้นให้บริการลูกค้าบุคคลและ SME และมีการลงทุนพัฒนา Digital Banking สอดคล้องกับทิศทางของ KBank ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง มีสัดส่วน NPL ประมาณ 0.91% ขณะที่อัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 2.93% มีเครือข่ายสำนักงานทั่วประเทศ 51 แห่ง ครอบคลุมเมืองสำคัญที่ลูกค้า KBank เข้าทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้บริการและคำปรึกษาได้ดียิ่งขึ้น
ธนาคารแมสเปี้ยน ยังอยู่ใน Maspion Group กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย ทำธุรกิจการเงินการธนาคาร ค้าปลีกค้าส่ง โลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้เล่นอันดับหนึ่งในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคแบบถาวร เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ในครัวเรือน มีฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ลงทุนต่างประเทศ ก้าวที่ท้าทายของ KBank
สำหรับตลาดอินโดนีเซียถือเป็นตลาดที่ท้าทาย ในเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์เป็นประเทศเกาะที่มีวัฒนธรรมและกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย ปัจจุบันมีธนาคารให้บริการอยู่กว่า 100 ธนาคาร ทำให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก ดังนั้นการการเข้าถือหุ้นจึงเป็นการเดินหมากที่ตอบโจทย์ธุรกิจของทั้งลูกค้าและ KBank ได้ดีที่สุด
การเข้าไปถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยน แม้จะเป็นสัดส่วนที่ยังไม่มากแต่เป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าไปเป็นพันธมิตรการค้าการลงทุน และการก้าวเป็นธนาคาร AEC+3 โดย KBank และธนาคารแมสเปี้ยน จะร่วมกันพัฒนาบริการระหว่างประเทศ บริการเพื่อธุรกิจ SME และบริการ Digital Banking ช่วยสนับสนุนให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถให้บริการของแก่ลูกค้าธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียและลูกค้าอินโดนีเซียที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
Alim Markus ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มแมสเปี้ยน บอกว่า ความร่วมมือครั้งนี้นอกจากพัฒนาบริการร่วมกัน ยังแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ Digital Banking และการให้บริการกลุ่มลูกค้า SME ขณะเดียวกันเครือข่ายบริการของแมสเปี้ยนที่ครอบคลุมพื้นที่ธุรกิจสำคัญ ได้แก่ หมู่เกาะสุมาตรา หมู่เกาะชวา หมู่เกาะบาหลี หมู่เกาะสุลาเวสี และหมู่เกาะกาลิมันตัน จะช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการและคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซียได้อย่างใกล้ชิด
เชื่อมธุรกิจไทยในอินโดฯ กระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
สำหรับภูมิภาค AEC+3 เป็นตลาดที่สำคัญต่อภาคธุรกิจไทยในการเชื่อมโยงธุรกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาค ซึ่งในห้วงปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ขยายเครือข่ายการให้บริการในภูมิภาคอย่างครอบคลุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสาขาในประเทศกัมพูชา การยกระดับการบริการเป็นธนาคารท้องถิ่นในประเทศลาวและจีน และล่าสุดก็คือประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่า GDP ใหญ่เป็นอันดับที่หนึ่งในภูมิภาค AEC
การเข้าไปถือหุ้นของธนาคารแมสเปี้ยนในครั้งนี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ AEC+3 โดยจะพร้อมให้บริการในเดือนกันยายนนี้ เฟสแรกจะเริ่มให้บริการลูกค้ากลุ่มธุรกิจ เปิด Foreign Desk มีตัวแทนของ KBank ประจำเพื่อช่วยธุรกิจไทยในอินโดนีเซีย
อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีประชากร 260 ล้านคน เป็นอันดับที่ 4 ของโลก อัตราการเติบโตของ GDP ขยับเข้าใกล้มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากการวิเคราะห์ของ Deloitte อินโดนีเซียจะก้าวขึ้นมาเป็นตลาดที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกภายในปี 2563
ปัจจุบันได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับต้นๆ ในช่วงปี 2553-2558 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ที่ 55% รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลอินโดนีเซียในการปฏิรูปที่ดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง
ด้านมูลค่าการค้าระหว่างอินโดนีเซียและไทย ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 5.3 แสนล้านบาท และจากการเกิดบริการรับชำระด้วยสกุลเงินท้องถิ่นโดยตรงระหว่าง (exotic currency settlement initiative) ระหว่างสกุลบาทไทย และ สกุลรูเปียอินโดนีเซีย คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศแตะ 7 แสนล้านบาท ภายในปี 2563 นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ประเทศอินโดนีเซีย (BKPM) ระบุว่ามูลค่าการลงทุนจากไทยเข้าในอินโดนีเซีย (TDI) ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นเม็ดเงินจำนวนกว่า 2.3 แสนล้านบาท
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา