KBank เปิดข้อมูลโครงการช่วยลูกค้า COVID-19 เน้นรักษาธุรกิจ-การจ้างงาน ครึ่งปีหลังยังหนัก

หลังจากเหตุการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจและลูกค้าทั่วไปรวม 650,000 ราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 828,000 ล้านบาท และให้เงินทุนเพิ่มกับลูกค้า 94,000 ราย เพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤต จำนวนเงินรวม 156,000 ล้านบาท

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ของ KBank บอกว่า การพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ 650,000 ราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 828,000 ล้านบาท และการให้เงินทุนเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับลูกค้าธุรกิจ 94,000 ราย จำนวน 156,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดการปล่อยสินเชื่อที่เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30% โดยธนาคารฯ ยังคงเดินหน้าให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องสำหรับลูกค้าที่ยังเดือดร้อนให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่รอดต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

นอกจาก KBank ได้ใช้งบประมาณจำนวน 1,500 ล้านบาท ภายใต้โครงการเถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจโดยธนาคารฯ ลดดอกเบี้ยให้กับธุรกิจที่ยังมีกำลังอยู่ เพื่อให้เจ้าของนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายเงินเดือนพนักงาน และโครงการสินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอีเป็นการให้เงินทุนแก่ธุรกิจขนาดเล็ก ในอัตราดอกเบี้ย 0% 10 ปี โดยปีแรกไม่ต้องจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อนำไปจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน

ทั้ง 2 โครงการได้ผลตอบรับที่ดีและเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ธนาคารฯ ตั้งไว้ โดยให้เงินช่วยลูกค้าไปแล้วรวม 1,144 ล้านบาท สามารถช่วยรักษาการจ้างพนักงานได้จำนวน 49,000 ราย ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณน้ำใจจากเจ้าของธุรกิจบางรายที่ปฏิเสธความช่วยเหลือของธนาคารฯ เนื่องจากมองว่าตัวเองยังไหวและเข้าใจดีว่าธนาคารฯ ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกคน จึงเสียสละเพื่อให้ธนาคารฯ นำเงินไปช่วยเหลือธุรกิจที่เดือดร้อนกว่า

ในช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันลูกค้าธุรกิจของธนาคารฯ มียอดรวมเงินฝากเพิ่มขึ้น 13% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลูกค้าบางส่วนยังมีกำลังพอที่จะชำระหนี้หลังครบกำหนดพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ธนาคารฯ ติดต่อลูกค้าเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์หรือดูความจำเป็นของลูกค้าเพื่อนำเสนอความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทั้งนี้หากลูกค้าท่านใดที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อเข้ามาที่ธนาคารฯ ได้ ธนาคารฯ มีความตั้งใจเต็มที่จะช่วยให้ลูกค้าที่เดือดร้อนด้วยเงินทุนที่ธนาคารฯ มีอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าในช่วงครึ่งหลังของปี หรือในปีหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น หรือมีผลกระทบอะไรตามมาอีก ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ หากมีปัญหาให้เข้ามาปรึกษาหาทางออกร่วมกัน

พร้อมกันนี้ได้เสนอแนะแนวทางเบื้องต้นว่า ใครก็ตามที่มีหนี้ในช่วงนี้ ขอให้เลือกชำระหนี้บัตรเครดิตก่อนเป็นอันดับแรกๆ โดยสามารถปรึกษากับธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อหาทางออก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา