เทคโนโลยีพัฒนาไปทุกวัน จึงทำให้บริการใหม่ๆ ที่นำเทคโนโลยีมาทำให้ชีวิตประจำวันเราง่ายขึ้น มีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตในธุรกิจบริการนั้นได้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่น่าสนใจคือบริษัทที่เคยเริ่มธุรกิจด้วยการเป็นสตาร์ทอัพเมื่อ 6 ปีที่แล้วอย่าง Grab ที่เป็นแพลตฟอร์ม offline – to – online ให้บริการตั้งแต่การเดินทาง การจัดส่งสินค้า ส่งอาหาร ฯลฯ วันนี้มีธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล และมีบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกสนใจจะร่วมทุนด้วย
ล่าสุดธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เห็นโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตของ Grab จึงตัดสินใจลงทุนกับพันธมิตรที่มีธุรกิจหลักนอกประเทศไทยเป็นครั้งแรกด้วยดีลสูงถึงกว่า 1,600 ล้านบาท เรื่องนี้จึงไม่น่าจะใช่เรื่องธรรมดา
ทำไม KBank และ Grab เลือกเป็น Partner กัน?
พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ธนาคารเข้าไปลงทุนใน Grab Holding ที่สิงค์โปร์ผ่าน บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) (บริษัทในกลุ่มของธนาคารกสิกรไทย) เพราะเป้าหมายหลักของธนาคารต้องการเป็น “แพลตฟอร์มที่ลูกค้าเลือกใช้เพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิตในทุกวัน” ดังนั้นจะมีแค่เรื่องธุรกรรมการเงินไม่ได้ KBank เมื่อจับมือกับ Grab ที่มีฐานลูกค้า 125 ล้านผู้ใช้งาน จะทำให้แบงก์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
“พอมีฟินเทคเกิดขึ้น เราไม่ได้มองเขาเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าศักยภาพสามารถเสริมต่อยอดกันได้ เราเลยต้องเชื่อมโยงกับ Platform อื่นๆ ซึ่งช่วยเพิ่มฐานลูกค้า และเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มคนที่มากขึ้น เราร่วมมือกับ Grab ให้เกิด Digital Lifestyle Ecosystem ที่จะทำให้ลูกค้าใช้บริการบนแพลตฟอร์มของทั้งธนาคาร และ Grab ได้ไหลลื่น และเชื่อมโยงผู้คนทั้งระบบให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ”
เปิดตัว 3 บริการใหม่เมื่อ KBank ร่วมมือกับ Grab
ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย บอกว่า ปีนี้ Grab เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว มีผู้ใช้งานทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 125 ล้านคน และมีผู้ประกอบการ (คนขับรถแท็กซี่ จักรยานยนต์ และร้านค้า ร้านอาหาร) ประมาณ 8-9 ล้านราย ซึ่งเมื่อเชื่อมแพลตฟอร์มกับธนาคารกสิกรไทยจะมีบริการเพิ่มขึ้นจากความเชี่ยวชาญของธนาคารอีก ในระยะแรกจะมี 3 เรื่องได้แก่
- GrabPay by KBank เป็น e-wallet (กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์) ที่ในอนาคตสามารถเติมเงินเข้าไปเพื่อใช้จ่ายในบริการของ Grab และในชีวิตประจำวัน (ต่างกับ Grab Pay ที่ปัจจุบันใช้เป็นช่องทางเชื่อมบัตรเครดิตมาชำระค่าสินค้าและบริการ) โดยธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาแพลตฟอร์ม e-Wallet จะเป็นผู้พัฒนาระบบ และให้บริการหลังบ้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
- พัฒนาแอปพลิเคชัน K PLUS และ Grab ให้ใช้งานร่วมกันได้ และลูกค้าสามารถใช้บริการทั้งฝั่ง K PLUS และ Grab ได้ราบรื่น เรื่องนี้น่าจะเห็นความชัดเจนปลายไตรมาส 4 นี้
- ทั้ง KBank และ Grab จะเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ในฐานลูกค้าทั้ง 2 บริษัท เช่น คนขับของ Grab สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารกสิกรไทยได้ หรือเสนอบริการ Grab for Business ให้ลูกค้า SME ของแบงก์ใช้บริการเพื่อช่วยจัดการธุรกิจได้ง่ายขึ้น
“ธนาคารกสิกรไทยถือเป็นผู้นำเรื่องลูกค้า SME อยู่แล้ว ดังนั้น Grab จะเข้าไปเสนอบริการที่จะช่วยเสริมธุรกิจให้กับลูกค้าของ KBank ได้ด้วย”
แก้ Pain Point : ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มี Statement ก็ขอสินเชื่อได้
พัชร บอกว่า คนที่ไม่มีรายได้ประจำ เช่น คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซด์ มักขอสินเชื่อจากธนาคารยากเพราะไม่มี Statement หรือหลักฐานการเงินใดๆ ที่จะอ้างอิง แต่เมื่อ KBank ร่วมมือกับ Grab เราจะเอาข้อมูลที่ Grab เห็นอยู่ในระบบมาเป็นตัวช่วยให้กลุ่มคนขับรถมีหลักฐานยืนยันกับธนาคารได้จากหลังบ้านของ Grab เลย ทำให้เรามีฐานข้อมูลลูกค้า ทั้งเรื่องพฤติกรรมการเงิน รายรับลูกค้ากลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำมากขึ้น หรือไม่มีบัญชีธนาคารได้มากขึ้น (มีอยู่กว่าล้านคนทั่วประเทศไทย) เช่น ผู้ขับรถของ Grab พ่อค้าแม่ค้า สามารถขอสินเชื่อเพื่อหมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารประเมินความเสี่ยงลูกค้า และมีโอกาสปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
“วินในกรุงเทพฯ มีเกือบแสนคัน พอเขาไม่มี Statement เขาก็ขอสินเชื่อยากขาดโอกาสในการซื้อเครื่องมือทำมาหากิน หรือความจำเป็นอื่นๆ ในชีวิต เลยต้องไปนอกระบบกันหมด ซึ่งสินเชื่อที่เราจะปล่อยก็วงเงินไม่สูง แต่ไม่ใช่ว่าเราเน้นปล่อยสินเชื่อย่างเดียว เราต้องพยายามไม่ให้มีหนี้เสีย (NPL) ข้อมูลที่มีจะช่วยประเมินความเสี่ยงลูกค้าก่อนปล่อยสินเชื่อได้”
จากทั้งหมดนี้ความร่วมมือครั้งนี้จึงไม่ใช่ความร่วมมือธรรมดา แต่เป็นการร่วมกันพัฒนาทั้งแพลตฟอร์มที่จะขยายต่อไปได้เรื่อยๆ และจะสร้างโอกาสของลูกค้าทั้งวงจรของ KBank และ Grab ให้ก้าวไปพร้อมกับโอกาสที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา