KBank หนุนภาคธุรกิจรับมือโลกเดือด ปรับตัว-คว้าโอกาส ในสมการเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

“หากเราทำคนเดียว เราต้องทำ ตามกติกาพวกเขาเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น หากเรารวมตัวกัน ก็อาจมีโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ๆ บนโลกซึ่งกำลังอยู่บนกติกาใหม่ และที่สำคัญไม่เพียงแค่การที่เป็นผู้รอดชีวิตเท่านั้น ทว่ามีโอกาสที่จะเจริญงอกงามบนกติกาโลกใหม่ได้

kbank

ส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์จากธนาคารกสิกรไทย สะท้อนทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการ ESG ในโลกธุรกิจที่มีความก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง กับหัวข้อ Actions for Change ภายใต้ธีม Time for Action #พลิกวิกฤตโลกเดือด ในงาน ‘PRACHACHAT ESG FORUM 2024’ ณ แกรนด์ฮอลล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก  โดย พิพิธ อเนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ในงานนี้ KBank ได้ฉายภาพสมการเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนไป ที่ Wealth ต้องมาควบคู่กับ Wellbeing มองการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero มองประเทศไทยและภาคธุรกิจต้องการทั้งเม็ดเงินสนับสนุนและโซลูชันที่มากกว่าการเงินเพื่อช่วยในการ Decarbonize รวมทั้งการประสานศักยภาพจากภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนสำคัญ ที่จะเพิ่มโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ๆ บนโลกซึ่งกำลังอยู่บนกติกาใหม่ได้

kbank

เปิดปฐมบทของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย พิพิธ เปิดเผยว่า ในฐานะนักการเงิน พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สร้างความเสียหายทั่วโลก คิดเป็น 3% ของ GDP โลก แต่หากปล่อยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 ความเสียหายจะพุ่งไปสู่ 18% ของ GDP โลก ประเทศที่ไม่มีความพร้อมด้านทรัพยากรในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น กรณีประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความเสี่ยงเชิงกายภาพ คิดเป็นผลกระทบที่กระเทือนต่อ GDP ประเทศ ราว 44% ดังนั้น ‘ภาวะโลกเดือด’ จึงนับเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

kbank

พิพิธ ชวนคิดต่อในส่วนของโมเดลเศรษฐกิจโลกแบบเดิม ให้ความสำคัญกับ ความมั่งคั่ง (wealth) มากกว่า สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (wellbeing)  ดังนั้น เมื่อโอกาสมาถึงเราไม่เพียงแต่จะต้องเริ่ม แต่จะต้องเร่งความเร็วให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งโมเดลการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนนี้ มูลค่าของธุรกิจจะมีการบูรณการผลกระทบด้าน สภาพภูมิอากาศ (Climate) สังคม (Societal Health) และสิ่งแวดล้อม (Environment) เข้าไปด้วย เพื่อสร้างให้ธุรกิจเป็น Less Brown และบวกกับการทำธุรกิจใหม่ๆ แบบสีเขียว (Earning Greens) ซึ่งจะสามารถทำให้เรา เพิ่มทั้ง Wealth และ Wellbeing ไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับ KBank ที่มีความมุ่งมั่นในการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน หรือ Bank of Sustainability โดยมีหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์โลกในยุคปัจจุบัน

หากมองระบบเศรษฐกิจ ผนวกกับข้อมูลจากการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions : NDCs) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญเพื่อบรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในความพยายามกำจัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์นั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ จำต้องนำเทคโนโลยีที่มีราคาสมเหตุสมผล เข้ามาช่วย เช่น รถ EV (Electric Vehicle) โซลาร์เซลล์ พลังงานลม แบตเตอรี่ เป็นต้น ร่วมด้วยภาคอุตสาหกรรมที่ดำเนินการด้าน Nature-based Solution ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า การใช้แพลงก์ตอน การใช้ชีวะเคมี เป็นต้น

kbank

นอกจากนี้ ธุรกิจแต่ละกลุ่มก็มีความพร้อมที่แตกต่างกัน โจทย์ใหญ่ คือ ลูกค้ากลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs (Small and Medium Enterprises) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเปราะบาง (Vulnerable) หากดำเนินด้วยวิธีการแบบเดิม อาจทำให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกเศรษฐกิจแบบ Wealth and Well Being ได้สำเร็จ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธนาคาร ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจทั่วประเทศ ดังนั้นนอกเหนือจากเครื่องมือทางการเงินแล้ว การให้โซลูชันที่มากกว่าการเงิน อาทิ องค์ความรู้ Carbon Credit Mechanism และเทคโนโลยี เพื่อช่วยภาคธุรกิจในการปรับตัวจึงมีความสำคัญเช่นกัน

ด้านผลการดำเนินงานของธนาคาร ผู้จัดการใหญ่ KBank เล่าว่า ที่ผ่านมา KBank เป็นหนึ่งในผู้ที่ให้ความสำคัญกับ ESG อย่างจริงจัง กล่าวคือ Scope 1-2 มุ่งดำเนินกิจการสีเขียว สอดรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2030 ทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในองค์กร รวมทั้งเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน อาทิ การสนับสนุนใช้รถ EV และรถไฮบริด การติดโซลาร์รูฟท็อปของตึกอาคารธนาคารกสิกรไทย 60 สาขา รวมถึงการลดแก๊สเรือนกระจก  ซึ่งในปีที่แล้ว ลดได้ 12.74% ตลอดจนครองฐานะองค์กรเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Organization) ต่อเนื่อง 6 ปีซ้อน (2018-2023)

ต่อมา Scope 3 ดำเนินการกลยุทธ์ Portfolio Decarbonization โดยได้มีการจัดทำแผนธุรกิจร่วมกับลูกค้าไปแล้วใน5 กลุ่มอุตสาหกรรมประกอบด้วย กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้นน้ำ กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ รวมถึงกลุ่มอะลูมิเนียม และในปี 2567 นี้ ธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับกลุ่มธุรกิจขนส่งและยานยนต์ นอกจากนี้ยังวางแผนขยายให้ครอบคลุมทุกภาคอุตสาหกรรมในระยะยาวต่อไป พร้อมเสริมศักยภาพของลูกค้า นำเสนอโซลูชัน ตลอดจนสนับสนุนทางเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ ​​Net Zero Economy

อีกทั้งสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม (Green Loan) สินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) จัดสรรเงินลงทุนในธุรกิจและสตาร์ทอัพที่สร้างผลกระทบเชิงบวกนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มุ่งสนับสนุนธุรกิจคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) โดยจากยอดสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืน จำนวน 26,411 ล้านบาทในปี 2022 ภายในปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งมอบเงินในส่วนนี้ได้รวม 100,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเป็น 200,000 ล้านบาทภายในปี 2030 ตามเป้าหมาย

“ล่าสุดเราพยายามสร้างนวัตกรรมทางการเงินเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ทั้ง Green Loan และ Green Finane โดยร่วมกับพันธมิตร เพื่อนำคาร์บอนเครดิตไปเป็นคูปองเพื่อจ่ายให้กับนักลงทุน และนักลงทุนก็รับ แสดงให้เห็นว่าโลกนี้กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียง Capital Market Product เท่านั้น แต่เริ่มมีการตระหนักรู้และยอมรับเพื่อให้สังคมดีขึ้น”

kbank

ยกระดับความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง คุณพิพิธกล่าวว่า การที่จะช่วยให้ลูกค้าในพอร์ตโฟลิโอลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับเป็นงานที่มีความท้าทาย เป็นการต่อจิ๊กซอว์ที่ต้องเชื่อมต่อองค์ประกอบหลายด้านเข้าด้วยกันเป็นภาพใหญ่ ทำให้ธนาคารกสิกรไทยได้ขยายขอบเขตออกไปในวงกว้างมากขึ้น หรือที่ทีมเราเรียกกันว่า Scope X  ที่เราต้องเข้าถึงหน่วยต่าง ๆ ใน Ecosystem และซัพพลายเชนของธุรกิจของลูกค้า ให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือในการ Decarbonize ด้วยโซลูชันที่มากกว่าการเงิน หรือ Beyond Banking Solutions โดยมีการจัดตั้งบริษัท KOP50 ซึ่งเป็น Holding Company ภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย เพื่อดำเนินโครงการที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้คาร์บอน พร้อมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลากหลายราย โดยธนาคารเป็นสะพานเชื่อมประสานศักยภาพทางเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ เกิดเป็น Ecosystem ที่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ริเริ่มดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้บริษัท KOP50 เพื่อสร้าง Sustainable Ecosystem ที่สมบูรณ์ ดังนี้

KClimate 1.5 : นำเสนอโซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการรับมือกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเตรียมพร้อมสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

KEnergy+ มุ่งให้ภาคประชาชนสามารถเข้าร่วมสู่การเปลี่ยนผ่าน โดยพัฒนาโครงการ EV Bike Platform ที่ชื่อว่า Watts’up ในรูปแบบ e-Marketplace platform เพื่อให้ผู้ขับขี่รถจักยานยนต์ไฟฟ้าสามารถทำรายการเช่าจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ตามสถานที่ให้บริการที่ปรากฏบนแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการ GreenPass แพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC)  สำหรับองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทย ช่วยให้ลูกค้ารายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถขอและขายใบรับรอง REC ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย และส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในประเทศ

รวมถึง Creative Climate Research Center ที่จะช่วยสนับสนุนการส่งมอบความรู้จากสถาบันชั้นนำเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยร่วมมือกับองค์กรชั้นนำจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงองค์กรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กร เพื่อให้ประเทศไทยมีศูนย์บริการความรู้แบบ One-stop-shop ครบคลุมทุกองค์ความรู้ที่ทันสมัย เข้าถึงง่าย และให้บริการคำปรึกษาที่น่าเชื่อถือแก่ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุด ธนาคารได้ร่วมประชาสัมพันธ์สนับสนุน สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดหลักสูตร Net Zero CEO Leadership Program เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงให้สามารถเดินหน้าสู่ธุรกิจ Net Zero 

kbank

พิพิธ ปิดท้ายว่า ธนาคารฯ ให้ความสำคัญด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ประสานความร่วมมือกับ 25 องค์กรชั้นนำทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ จัดตั้ง “เครือข่ายธุรกิจเพื่อการจัดการสภาพภูมิอากาศประเทศไทย” หรือ Thai Climate Business Network – ThaiCBN เชื่อมโยงการทำงานของทั้ง 5 ภาคส่วน ได้แก่  ภาครัฐ ภาคเอกชน  ภาคการศึกษา ภาคการเงินและการธนาคาร องค์กรและธุรกิจต่างประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน ผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี แนวทางปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จเนื่องด้วยความซับซ้อนทางมิติที่หลากหลาย เมื่อผนวกกับจุดแข็งขององค์กรขนาดใหญ่ที่มีองค์ความรู้และข้อมูลด้านการเงิน-การลงทุน จึงสามารถผนึกกำลังพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญเพื่อ ส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ ไปดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง และยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานให้พร้อมคว้าโอกาสใหม่ของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำพร้อมสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้กับผู้เล่นรายย่อยที่เข้ามาอยู่ในระบบได้  

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงก้าวหนึ่งของ ‘ธนาคารกสิกรไทย’ เท่านั้น ซึ่งก้าวต่อไปมุ่งหวังให้องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม รวมถึงสถาบันการเงิน เดินหน้านำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ขับเคลื่อน Actions for Change ภายใต้วิกฤตโลกเดือด เพื่อให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่าน ไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา