กสิกรไทย ชี้ น้ำท่วม 2564 กระทบผลผลิตข้าวนาปี คาดมูลค่าเสียหายราว 6,300-8,400 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าความเสียหายของข้าวจากผลของน้ำท่วมในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2021 อาจอยู่ราว 6,300-8,400 ล้านบาท เพราะข้าวนาปีที่ปลูกแล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ ทวีความลำบากให้กลุ่มเกษตรกร

ข้าวนาปี

ข้าวนาปี เสียหายไปกับน้ำท่วม

หลัง กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศให้ไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2021 นอกจากฝนที่ตกทั่วประเทศ ยังมีพายุหลายลูกพัดเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ก.ย.-ต.ค. ทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าเดิม เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดน้ำท่วมราว 50 จังหวัด ถือเป็นปีที่มีภาวะน้ำท่วมรุนแรงกว่าในอดีต เช่นปี 2008 และ 2010 อ้างอิงจากมิติปริมาณน้ำฝนสะสม และปริมาณน้ำในเขื่อน ที่สำคัญน้ำท่วมครั้งนี้กระทบต่อพื้นที่การเกษตร และสร้างความเสียหายต่อ ข้าวนาปี พืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีฤดูกาลผลิตในช่วงฤดูฝน

จุดที่น่าสนใจของ ข้าวนาปี ที่จะทยอยออกสู่ตลาดในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2021 คิดเป็น 14.5% ของปริมาณการผลิตข้าวนาปีทั้งปีการผลิต  โดยจะผลิตที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ และภาคกลาง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า มูลค่าความเสียหายของข้าวจากผลของน้ำท่วมช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 2021 อาจอยู่ราว 6,300-8,400 ล้านบาท บนสมมติฐานที่เป็นพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งสิ้นราว 5 ล้านไร่ และเสียหายจากต้นข้าวตายไปราวร้อยละ 30-40 ของพื้นที่นาข้าวทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

แม้ว่าผลผลิตข้าวบางส่วนจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่อยู่ในเกณฑ์ดีเอื้อต่อการเพาะปลูกข้าวในภาพรวมทั้งปี ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปรังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้ภาพรวมผลผลิตข้าวทั้งปี 2021 ยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีที่ราว 30 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 (YoY) ขณะที่ในแง่ของราคาข้าวเฉลี่ยทั้งปี 2021 อาจอยู่ที่ราว 8,700-9,200 บาทต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 18.9-23.3 (YoY)

นอกจากนี้ มองต่อไปในเดือน พ.ย. 2021 ซึ่งเป็นช่วงผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดมากที่สุดคิดเป็นราวร้อยละ 67.1 ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปีทั้งปีการผลิต ก็อาจส่งผลกดดันต่อราคาข้าวให้ปรับตัวลดลงจากปริมาณผลผลิตข้าวที่มีในระดับสูงและข้าวอาจมีความชื้นสูง ซึ่งจะถูกกดราคา ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีความยากลำบากต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้าที่ผลผลิตข้าวเสียหายจากน้ำท่วม ประกอบกับในภาวะที่ภาคการส่งออกข้าวก็มีแนวโน้มไม่ดีนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ราคาข้าวมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น นโยบายของภาครัฐในโครงการประกันรายได้เกษตรกรระยะที่ 3 (ปี 2021/2022) น่าจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีในการช่วยประคับประคองรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไม่ให้ต้องเผชิญความยากลำบากมากนัก

อย่างไรก็ดี แม้ในขณะนี้อิทธิพลของพายุคมปาซุได้คลี่คลายลงไปแล้ว ทำให้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้มีระดับน้ำท่วมที่ลดลงไปบ้างแล้ว แต่เมื่อมองต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2021 ประเทศไทยน่าจะได้รับอิทธิพลจากพายุเขตร้อนตามฤดูกาลที่มีแนวโน้มรุนแรงในภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนให้อยู่ในระดับสูง จึงยังคงต้องจับตาถึงระดับความรุนแรงของพายุที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเกษตรหลักในภาคใต้อีกด้วย

ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้นที่ไม่ได้รวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน (เช่น ถนน สะพาน เป็นต้น) และยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งยังต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า โดยเฉพาะความเสี่ยงจากน้ำท่วมในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม แม้การประเมินตัวเลขความเสียหายดังกล่าวในปีนี้ที่อาจมีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับในอดีตที่มีน้ำท่วมรุนแรงล่าสุดของไทยเช่นในปี 2017 ทั้งในมิติของมูลค่าความเสียหายของข้าว และสัดส่วนมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวมเศรษฐกิจระดับประเทศ แต่ในระดับภูมิภาค เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ที่ครัวเรือนก็เผชิญความยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว จากปัญหารายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง) การมีงานทำ การเผชิญปัญหาสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา