เวลานี้เรื่องที่ร้อนแรงที่สุดในวงการธนาคารคือ การเปิดรับชำระเงินผ่านระบบ QR Code ซึ่งหนึ่งในธนาคารที่นำหน้าด้านนี้คือ ธนาคารกสิกรไทยหรือ KBank ด้วยความเป็นผู้นำด้าน Digital Banking อยู่แล้วการพัฒนาระบบ QR Code และชวนให้เกิดการใช้งานจึงไม่ใช่เรื่องยาก
แต่โจทย์สำคัญของ KBank คือทำอย่างไรจะรักษาความเป็นผู้นำและก้าวไปให้ไกลกว่าธนาคารอื่น ๆ เหมือนที่เคยทำมาตลอดเวลาก่อนหน้านี้
จาก K PLUS ถึง K PLUS SHOP จุดสำคัญธนาคารบนมือถือ
คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ของ KBank บอกว่าบริการผ่านแอปพลิเคชั่น K PLUS คือหัวใจสำคัญของ KBank ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 6.5 ล้านรายโดย 80% ใช้งานเป็นประจำพอมีการพัฒนาต่อยอดให้สามารถชำระเงินด้วย QR Code ยิงปิ๊บจ่ายปั๊บได้ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการใช้งานในทันทีให้กับลูกค้าทั่วไป
ขณะที่การต่อยอดคือการพัฒนา K PLUS SHOP ซึ่งเป็นแอปสำหรับร้านค้าให้รับจ่ายเงินด้วย QR Code สามารถแยกบัญชีรายรับ-รายจ่ายของร้านจากบัญชีปกติเพื่อทำให้เห็นสภาพคล่องทางการเงินในร้านและยังจับกลุ่ม 3 ธุรกิจ คือ ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม, ร้านสินค้าแฟชั่น และการเดินทาง
“ช่วงแรกเป็นระยะทดลองบริการในพื้นที่จำกัดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดมี 3 พื้นที่คือจตุจักร, สยามฯและห้างสรรพสินค้าแพลตินั่มมีร้านค้าทดลองกว่า 2,500 ร้านค้าก่อนจะเปิดให้ใช้งานในวงกว้างทั่วประเทศประมาณเดือนต.ค. นี้”
เป้าหมายของ KBank คือมีผู้ใช้งาน K PLUS SHOP 2 แสนรายทั่วประเทศในปีนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลยด้วยฐานลูกค้า SME และร้านค้าออนไลน์ที่ปกติใช้บริการ KBank อยู่แล้วต่อไปให้ลูกค้ายิง QR Code จ่ายเงินได้ทันทีไม่มีเหตุผลที่ร้านค้าจะไม่ใช้บริการ
ก้าวไปข้างหน้า Digital Cross Border Payment รายแรกในไทย
การให้บริการรับจ่ายเงินระบบ QR Code ทาง KBank เป็นธนาคารแรก ๆ ที่ให้บริการแต่ทุกธนาคารในไทยก็กำลังเร่งมือทำอยู่สิ่งที่ทำให้ KBank แตกต่างและมีความเป็นผู้นำอย่างชัดเจนนอกจากความง่ายในการใช้งานที่ไม่จำเป็นต้องผูกบัญชี PromptPay ก็ใช้งานได้
อีกส่วนที่ KBank เป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวในเวลานี้คือ สามารถทำ Digital Cross Border Payment ได้โดยความร่วมมือกับ Alipay และ WeChat Pay รับชำระเงินผ่านทั้งระบบ EDC หรือเครื่องรูดบัตรและผ่านแอป K PLUS SHOP ที่จะพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้
คุณขัตติยา บอกว่า ปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยประมาณ 10 ล้านคนและจะมีการใช้จ่ายเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 3.8 แสนล้านบาท การอำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินผ่านแอป Alipay และ WeChat Pay ซึ่งเป็นความคุ้นเคยของนักท่องเที่ยวจีนอยู่แล้วจะช่วยเพิ่มโอกาสในการใช้จ่ายส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
“นักท่องเที่ยวจีนจะสะดวกไม่ต้องพกเงินสดจ่ายจากแอปของตัวเองผ่านสแกน QR Code ของ K PLUS SHOP ได้เลย”
เป้าหมายการเป็นธนาคารหลักจะทำธุรกรรมอะไรนึกถึง KBank
จริงอยู่ว่าอนาคต Alipay และ WeChat Pay จะสามารถใช้ได้ผ่านแอปของธนาคารอื่น ๆ แต่ KBank ต้องการแสดงให้เห็นว่า KBank ใส่ใจลูกค้า SME โดยสามารถให้บริการได้เป็นธนาคารแรก ดังนั้น SME ที่ใช้บริการของ KBankจะได้รับประโยชน์ก่อนที่อื่น ๆ
นอกจากการรับชำระ Digital Cross Border Payment แล้วตัวแอป K PLUS SHOP ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้นเช่น ระบบแจ้งเตือนทั้งเจ้าของร้านที่เป็นเจ้าของบัญชีและผู้จัดการร้านเพื่อสามารถตรวจสอบเงินได้ทันทีหรืออนาคตจะแยกระบบ QR Code ในแต่ละสาขาหรือแต่ละผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในการวางแผนการขายบริหารจัดการสินค้าได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่ฝั่งของผู้ใช้ทั่วไปการใช้แอป K PLUS จะไม่เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกแต่จะมีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น สามารถชำระเงินในร้านอาหารร้านแฟชั่นการเดินทางและได้รับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ
เพราะเป้าหมายของ KBank คือการเป็นธนาคารหลักที่ไม่ว่าร้านค้าหรือผู้ใช้ทั่วไปจะทำอะไรจะต้องนึกถึง KBankก่อนเป็นอันดับแรก
สรุป
KBank ใช้เวลาพอสมควรในการพัฒนาระบบร่วมกับ Alipay และ WeChat Pay จนเป็นธนาคารแรกที่รับชำระผ่าน QR Code ด้วยแอปจากประเทศจีนได้ที่สำคัญคือไม่ได้ใช้ระบบ PromptPay ด้วย นี่คือก้าวสำคัญที่ทำให้ SME และร้านค้าออนไลน์ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ จากนี้จะซื้อขายไม่ต้องโอนไม่ต้องจ่ายแค่ยิงปิ๊บก็สามารถจ่ายได้ปั๊บแต่ก่อนยืนยันตรวจสอบให้ดีด้วยว่าจำนวนเงินและปลายทางที่จ่ายไปถูกต้องจริงอยู่ว่าระบบ K PLUS SHOP สามารถยกเลิกการจ่ายได้หากทำรายการผิดพลาดแต่การตรวจสอบความถูกต้องคือทางที่ดีที่สุด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา