เปิด 4 กลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดึงธุรกิจในพอร์ตร่วมสร้าง “Decarbonized Economy” จาก KBank

ธนาคารกสิกรไทยจัดงาน Together ‘Transitioning Away’: Towards a New Way of Business เปิด 4 กลยุทธ์และเคสตัวอย่างการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของธุรกิจจากธนาคารและธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอเพื่อการสร้าง Decarbonized Economy

Decarbonized Economy คือเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม 

การดำเนินธุรกิจก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากฝั่งธนาคารเองแล้ว ปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท ที่ประกอบด้วยธุรกิจประมาณ 4.5 แสนรายที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารถึง 480 เท่า

ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปี 2050 หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไปถึง 3.2 องศา เศรษฐกิจโลกอาจสูญเสียมูลค่ากว่า 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 18% ของ GDP โลก ซึ่งมากกว่าช่วงโรคระบาด ที่สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3% ของ GDP โลก 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากทั้งความเสี่ยงเชิงกายภาพ และความเสี่ยงจากการเปลี่่ยนผ่าน (Transition risk) จากผลกระทบของการออกกฎเกณฑ์และกฎระเบียบของคู่ค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยถึง 44% ของ GDP

ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทำให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจออกข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลกดดันต่อภาคธุรกิจไทยที่มีความพร้อมแตกต่างกันโดย SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่เปราะบางที่สุด การที่มีกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าส่งออกไทย 40-45% 

4 กลยุทธ์จากธนาคารกสิกรไทย

​​Green Operations 

ธนาคารปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของตัวเองในด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่ Net Zero และเป็นตัวอย่างให้กับธุรกิจ ผ่านการติดตั้งแผงโซลาร์ทั้งอาคารหลักและสาขา การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาปและพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าสำหรับบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเคลื่อนที่ (EV Currency Exchange) ในปี 2566 ธนาคารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 12.74% เมื่อเทียบปี 2563 และเป็นกลางทางคาร์บอน 6 ปีต่อเนื่อง (ปี 2561-2566)

Green Finance 

การให้สินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการให้สินเชื่อ Green Loan การให้ Transition Finance การจัดสรรเงินลงทุนในสตาร์ทอัพ รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนของธนาคารเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเพื่อธุรกิจ ESG 

ธนาคารได้วิเคราะห์อุตสาหกรรมในพอร์ตโฟลิโอเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการทำแผนกลยุทธ์รายอุตสาหกรรม Sector Decarbonization Strategy ไปแล้ว 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลุ่มเหมืองถ่านหิน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มอลูมิเนียม

โดยพบว่ามีความคืบหน้าที่วัดผลได้ อาทิ การสนับสนุนสินเชื่อ Green Loan ให้แก่อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าจำนวน 3,800 ล้านบาท ที่ทำให้ระดับความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารในปี 2566 ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปี 2563

Climate Solutions 

 โซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรโดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรเกิดเป็นบริการที่ นอกเหนือจากการสนับสนุนทางการเงิน ได้แก่ โซลูชันการส่งมอบความรู้และคำแนะนำ โซลูชันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับลูกค้า รวมทั้งโซลูชันเพื่อการวัดผลและตรวจสอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ธนาคารได้พัฒนา WATT’S UP เป็น e-marketplace platform รองรับการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร รวมถึงบริการสลับแบตเตอรี่ผ่านจุดบริการที่ให้บริการบนแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชันปันไฟ (Punfai) ที่เป็นแอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนไฟฟ้าแห่งแรกของไทย

Carbon Ecosystem 

โซลูชันที่กำลังศึกษาและเตรียมแนวทางเพื่อเชื่อมต่อ Carbon Ecosystem และผลักดันให้ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยเติบโต

ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับ Innopower เตรียมเปิดบริการแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ในไตรมาส 2 ของปี 2567 รวมทั้งส่งเสริมตลาดคาร์บอนเครดิตโดยการเตรียมแนวทางในการเป็นตัวแทนซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Broker / Dealer) และการออกโทเคนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Tokenization)

เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2573

การดำเนินงานของธนาคารโดยตรงปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) และให้เงินสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืน 1-2 แสนล้านบาท 

นอกจากนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตสินเชื่อธนาคารสุทธิเป็นศูนย์สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย

ปัจจุบันผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญและมีผลโดยตรงกับภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัว การที่ธนาคารกสิกรไทยดำเนินตาม 4 กลยุทธ์ถือเป็นก้าวสำคัญในภาคธุรกิจ ในส่วนของกลยุทธ์ ​​Green Operations, Green Finance และ Climate Solutions เป็นสิ่งที่ธนาคารเองและธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอได้ลงมือทำและเห็นผลได้อย่างชัดเจน ส่วนกลยุทธ์สุดท้ายอย่าง Carbon Ecosystem ถือเป็นการต่อยอดที่ช่วยให้การดำเนินงานเพื่อไปสู่ Decarbonized Economy ที่จะช่วยเเก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเเละอุณหภูมิโลกที่กำลังสูงขึ้นได้อย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา